เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 8. เหมกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า มีสติ ได้แก่ มีสติด้วยเหตุ 4 อย่าง คือ (1) ชื่อว่ามีสติ เมื่อ
เจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ บุคคลนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
มีสติ
คำว่า เที่ยวไปอยู่ ได้แก่ เที่ยวไปอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่า
วิสัตติกา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ1
คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมายว่า
อย่างไร ฯลฯ ซ่านไป ขยายไป ฉะนั้น จึงชื่อว่าวิสัตติกา2
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ผู้มีสติพึงข้าม
คือ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยตัณหานี้ที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกนั่นเอง
รวมความว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น
จึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระมุนี บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว
มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม(นั้น)
ที่เป็นเครื่องกำจัดตัณหา แก่ข้าพระองค์เถิด
[55] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เหมกะ นิพพานบทอันไม่แปรผัน
เป็นเครื่องกำจัดความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
ในปิยรูปทั้งหลายที่ได้เห็น ได้ยินได้รับรู้และได้รู้ ในโลกนี้ (3)

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 2/50-51
2 ดูรายละเอียดข้อ 22/132

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :220 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 8. เหมกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ที่ได้เห็น ในคำว่า ที่ได้เห็น ได้ยินได้รับรู้และได้รู้ในโลกนี้ ได้แก่
ได้เห็นทางตา
คำว่า ได้ยิน ได้แก่ ได้ยินทางหู
คำว่า ได้รับรู้ ได้แก่ ได้รับรู้ คือ ดมกลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น สัมผัส
ทางกาย
คำว่า และได้รู้ ได้แก่ ได้รู้(ธรรมารมณ์)ทางใจ รวมความว่า ที่ได้เห็น ได้ยิน
ได้รับรู้และได้รู้ ในโลกนี้

ว่าด้วยปิยรูปและสาตรูป
คำว่า เหมกะ ... ในปิยรูปทั้งหลาย อธิบายว่า ก็อะไรเป็นปิยรูป1 เป็น
สาตรูป2ในโลก จักขุ เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก โสตะ (ประสาทหู) ... ฆานะ
(ประสาทจมูก) ... ชิวหา (ประสาทลิ้น) ... กาย (ประสาทกาย) ... มโน เป็นปิยรูป
เป็นสาตรูปในโลก
รูป เป็นปิยรูป เป็นสาตรูป เสียง ... กลิ่น ... รส ... โผฏฐัพพะ ... ธรรมารมณ์
เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก จักขุวิญญาณ เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก โสต-
วิญญาณ ... ฆานวิญญาณ ... ชิวหาวิญญาณ ... กายวิญญาณ ... มโนวิญญาณ
เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก จักขุสัมผัส เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก โสตสัมผัส
... ฆานสัมผัส ... ชิวหาสัมผัส ... กายสัมผัส ... มโนสัมผัส เป็นปิยรูป เป็นสาตรูป
ในโลก
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก เวทนาที่เกิดจาก
โสตสัมผัส ... เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัส ... เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัส ...
เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัส ... เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัส เป็นปิยรูป เป็นสาตรูป
ในโลก


เชิงอรรถ :
1ปิยรูป คือรูปที่น่ารัก น่าปรารถนา
2สาตรูป คือรูปที่น่ายินดี น่าต้องการ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :221 }