เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 2. มาณวปัญหา 7. นันทมาณวปัญหา
[100] (ท่านอุปสีวะทูลถามว่า)
มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี
หรือว่าไม่แตกทำลายเพราะมีความแน่แท้
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี โปรดพยากรณ์ปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (7)
[101] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
มุนีผู้ถึงความสลายไป ย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ
ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด
กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น
(เพราะ) เมื่อมุนีนั้นถอนธรรมทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว
แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวง
ท่านก็ถอนได้เด็ดขาดแล้ว(เหมือนกัน) (8)
อุปสีวมาณวปัญหาที่ 6 จบ

7. นันทมาณวปัญหา1
ว่าด้วยปัญหาของนันทมาณพ
[102] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก
คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร
ชนทั้งหลายเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณ
หรือว่าเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ว่า เป็นมุนี (1)

เชิงอรรถ :
1 ดูคำอธิบายในหน้า 195-216

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :22 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 2. มาณวปัญหา 7. นันทมาณวปัญหา
[103] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้
ไม่เรียกบุคคลว่าเป็นมุนี เพราะได้เห็นเพราะได้ฟังและเพราะได้รู้
เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว
ผู้ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี (2)
[104] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ประพฤติตนเคร่งครัด
ในหลักการของตนนั้น ข้ามชาติและชราได้บ้างหรือไม่
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (3)
[105] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
สมณพราหมณ์พวกนั้น
แม้ประพฤติตนเคร่งครัดอยู่ในหลักการของตนนั้น ก็จริง
แต่เรากล่าวว่า พวกเขายังข้ามชาติและชราไปไม่ได้ (4)
[106] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :23 }