เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 8. เหมกมาณวปัญหานิทเทส
[54] (ท่านเหมกะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระมุนี บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว
มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม(นั้น)
ที่เป็นเครื่องกำจัดตัณหา แก่ข้าพระองค์เถิด (2)
คำว่า พระองค์ ในคำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม(นั้น) ... แก่ข้า
พระองค์ เป็นคำที่เหมกมาณพเรียกพระผู้มีพระภาค
คำว่า ธรรม ในคำว่า โปรดตรัสบอกธรรม อธิบายว่า ขอพระองค์โปรด
ตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศพรหมจรรย์ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงาม
ในที่สุด พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน สติปัฏฐาน 4
สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรค
มีองค์ 8 นิพพาน และปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน รวมความว่า ขอ
พระองค์โปรดตรัสบอกธรรม(นั้น) ... แก่ข้าพระองค์
คำว่า ข้าแต่พระมุนี ... ธรรมที่เป็นเครื่องกำจัดตัณหา อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา ธรรมที่เป็นเครื่องกำจัดตัณหา คือ ธรรมเป็นเครื่อง
ละตัณหา เข้าไปสงบตัณหา สลัดทิ้งตัณหา ระงับตัณหา คืออมตนิพพาน
คำว่า ข้าแต่พระมุนี อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ ฯลฯ พระองค์
ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี รวมความว่า ข้าแต่
พระมุนี ... ธรรมที่เป็นเครื่องกำจัดตัณหา
คำว่า บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่ อธิบายว่า บุคคลรู้ชัดแล้ว
คือ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ได้แก่ บุคคลรู้ชัดแล้ว
คือ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
ฯลฯ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” ฯลฯ บุคคลรู้ชัดแล้ว
คือ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมี
ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :219 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 8. เหมกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า มีสติ ได้แก่ มีสติด้วยเหตุ 4 อย่าง คือ (1) ชื่อว่ามีสติ เมื่อ
เจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ บุคคลนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
มีสติ
คำว่า เที่ยวไปอยู่ ได้แก่ เที่ยวไปอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่า
วิสัตติกา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ1
คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมายว่า
อย่างไร ฯลฯ ซ่านไป ขยายไป ฉะนั้น จึงชื่อว่าวิสัตติกา2
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ผู้มีสติพึงข้าม
คือ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยตัณหานี้ที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกนั่นเอง
รวมความว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น
จึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระมุนี บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว
มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม(นั้น)
ที่เป็นเครื่องกำจัดตัณหา แก่ข้าพระองค์เถิด
[55] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เหมกะ นิพพานบทอันไม่แปรผัน
เป็นเครื่องกำจัดความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
ในปิยรูปทั้งหลายที่ได้เห็น ได้ยินได้รับรู้และได้รู้ ในโลกนี้ (3)

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 2/50-51
2 ดูรายละเอียดข้อ 22/132

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :220 }