เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 8. เหมกมาณวปัญหานิทเทส
8. เหมกมาณวปัญหานิทเทส1
ว่าด้วยปัญหาของเหมกมาณพ
[53] (ท่านเหมกะทูลถาม ดังนี้)
ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในคำพยากรณ์นั้น (1)
คำว่า อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใด ในคำว่า ก่อน ... อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใด
เคยพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ อธิบายว่า พราหมณ์พาวรี และอาจารย์คนอื่น ๆ
ของพราหมณ์พาวรี เคยพยากรณ์ คือ เคยบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศหลักการของตน ความถูกใจ ความพอใจ ลัทธิ อัธยาศัย
ความประสงค์ของตน รวมความว่า ก่อน ... อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยพยากรณ์
แก่ข้าพระองค์
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านเหมกะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า ดังนี้
นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน2
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า เหมกะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ3
คำว่า แต่ศาสนาของพระโคดม อธิบายว่า แต่ศาสนาของพระโคดม คือ
อื่นจากศาสนาของพระโคดม ก่อนศาสนาของพระโคดม ก่อนกว่าศาสนาของพระ
โคดม ได้แก่ ก่อนกว่าศาสนาของพระพุทธเจ้า ศาสนาของพระชินเจ้า ศาสนาของ
พระตถาคต ศาสนาของพระอรหันต์ รวมความว่า แต่ศาสนาของพระโคดม

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/1091-1094/542-543
2 ดูรายละเอียดข้อ 1/44
3 ดูรายละเอียดข้อ 1/44

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :217 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 8. เหมกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้ อธิบายว่า เล่ากันว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ เหตุนี้จักเป็นอย่างนี้ รวมความว่า เหตุนี้ได้เป็นมาแล้ว
อย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำว่า คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา อธิบายว่า คำ
พยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา คือ อาจารย์เหล่านั้นกล่าวธรรมที่
ตนไม่รู้ด้วยตนเอง ธรรมที่ไม่ได้ประจักษ์แก่ตนเอง โดยการเชื่อผู้อื่นว่า ธรรมนี้เป็น
ดังนี้ ๆ โดยการเล่าลือ โดยการถือสืบ ๆ กันมา โดยการอ้างตำรา โดยตรรก
โดยการอนุมาน โดยการคิดตรอง ตามแนวเหตุผล โดยเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
รวมความว่า คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำว่า คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ อธิบายว่า
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ คือ ทำให้ความวิตกเจริญ ทำให้
ความดำริเจริญ ทำให้กามวิตกเจริญ ทำให้พยาบาทวิตกเจริญ ทำให้วิหิงสาวิตก
เจริญ ทำให้ความวิตกถึงญาติเจริญ ทำให้ความวิตกถึงชนบทเจริญ ทำให้ความ
วิตกถึงความไม่ตายเจริญ ทำให้ความวิตกที่ประกอบด้วยความเอ็นดูเจริญ ทำให้
ความวิตกที่ประกอบด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญเจริญ ทำให้ความวิตกที่
ประกอบด้วยความปรารถนามิให้ใครดูหมิ่นเจริญ รวมความว่า คำพยากรณ์
ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
คำว่า ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในคำพยากรณ์นั้น อธิบายว่า ข้าพระองค์จึง
ไม่ยินดี คือ ไม่พอใจ ไม่ยอมรับ ไม่อยากได้ในคำพยากรณ์นั้น รวมความว่า
ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในคำพยากรณ์นั้น ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านเหมกะทูลถาม ดังนี้)
ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในคำพยากรณ์นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :218 }