เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 7. นันทมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา

ว่าด้วยปริญญา 3
คำว่า กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว ได้แก่ กำหนดรู้ตัณหาด้วยปริญญา 3 คือ
1. ญาตปริญญา
2. ตีรณปริญญา
3. ปหานปริญญา
ญาตปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์กำหนดรู้ตัณหา คือ รู้ เห็นว่า “นี้รูปตัณหา นี้สัททตัณหา
นี้คันธตัณหา นี้รสตัณหา นี้โผฏฐัพพตัณหา นี้ธัมมตัณหา” นี้ชื่อว่า
ญาตปริญญา
ตีรณปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์ทำสิ่งที่รู้แล้วให้ปรากฏอย่างนี้แล้ว พิจารณาตัณหา คือ
พิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร
เป็นของลำบาก เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นเสนียด เป็น
อุปัททวะ เป็นภัย เป็นอุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของผุพัง เป็นของไม่ยั่งยืน
เป็นของไม่มีที่ต้านทาน เป็นของไม่มีที่หลีกเร้น เป็นของไม่มีที่พึ่ง เป็นของไม่มีที่
อาศัย เป็นของว่าง เป็นของเปล่า เป็นของสูญ เป็นอนัตตา เป็นของมีโทษ
เป็นของแปรผันไปเป็นธรรมดา เป็นของไม่มีแก่นสาร เป็นเหตุแห่งความลำบาก
เป็นดุจเพชฌฆาต เป็นของปราศจากความเจริญ เป็นของมีอาสวะ เป็นของที่ถูก
เหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็นเหยื่อแห่งมาร มีชาติเป็นธรรมดา มีชราเป็นธรรมดา
มีพยาธิเป็นธรรมดา มีมรณะเป็นธรรมดา มีโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส
อุปายาสเป็นธรรมดา มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา เป็นเหตุเกิดทุกข์ ตั้งอยู่ไม่ได้
หาความ แช่มชื่นไม่ได้ เป็นโทษ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป นี้ชื่อว่าตีรณปริญญา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :214 }