เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 7. นันทมาณวปัญหานิทเทส
[52] (ท่านนันทะกราบทูลว่า)
ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
นรชนเหล่าใดในโลกนี้ ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด
ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว
เป็นผู้หมดอาสวะ แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า
นรชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว (7)
คำว่า นี้ ในคำว่า ... ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ ของพระองค์ผู้ทรง
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า ข้าพระองค์พอใจ ชอบใจ คือ เบิกบานใจ
อนุโมทนา ต้องการ ยินดี ทูลขอ ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังพระดำรัส คือ
คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน คำพร่ำสอนนี้
คำว่า พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค
ชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อย่างไร
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสีลขันธ์อันยิ่งใหญ่ จึงชื่อว่า
ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ฯลฯ “พระผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพประทับอยู่ที่ไหน
พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน” จึงชื่อว่าพระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอัน
ยิ่งใหญ่ รวมความว่า ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอัน
ยิ่งใหญ่
คำว่า ตรัสไว้ดีแล้ว ในคำว่า ข้าแต่พระโคดม ธรรมที่ปราศจากอุปธิ
พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว อธิบายว่า ตรัสไว้ดีแล้ว คือ ตรัสบอกไว้ดีแล้ว แสดงไว้ดีแล้ว
บัญญัติไว้ดีแล้ว กำหนดไว้ดีแล้ว เปิดเผยไว้ดีแล้ว จำแนกไว้ดีแล้ว ทำให้ง่ายดีแล้ว
ประกาศไว้ดีแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :212 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 7. นันทมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าแต่พระโคดม ธรรมที่ปราศจากอุปธิ อธิบายว่า กิเลส ขันธ์ และ
อภิสังขาร1 ตรัสเรียกว่า อุปธิ
การละอุปธิ ความเข้าไปสงบอุปธิ ความสลัดทิ้งอุปธิ ความสงบระงับอุปธิ
ชื่อว่าอมตนิพพาน รวมความว่า ข้าแต่พระโคดม ธรรมที่ปราศจากอุปธิพระองค์
ตรัสไว้ดีแล้ว
คำว่า นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับ
รู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด อธิบายว่า นรชนเหล่าใด ละ คือ สละ ละทิ้ง บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งความหมดจดแห่งรูปที่ได้เห็นทุกอย่าง ได้แก่
ละ คือ สละ ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งความ
หมดจดแห่งเสียงที่ได้ยินทุกอย่าง ฯลฯ ความหมดจดแห่งอารมณ์ที่ได้รับรู้ทุกอย่าง
ฯลฯ ความหมดจดแห่งรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่ได้รับรู้ ฯลฯ
ความหมดจดแห่งศีลทุกอย่าง ฯลฯ ความหมดแห่งวัตรทุกอย่าง ฯลฯ ละ คือ สละ
ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งความหมดจดแห่งศีลวัตร
ทุกอย่าง รวมความว่า นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด
คำว่า ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง อธิบายว่า ละ คือ สละ ละทิ้ง บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งความหมดจด คือ ความสะอาด ความ
บริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะมงคลที่เล่าลือกัน
หลากหลายรูปแบบ รวมความว่า ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง
คำว่า นรชนเหล่าใด... กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ แม้ข้า
พระองค์ก็กล่าวว่า นรชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว อธิบายว่า

เชิงอรรถ :
1 อภิสังขาร หมายถึงสภาพที่ปรุงแต่ง ธรรมมีเจตนาเป็นประธานอันปรุงแต่งผลแห่งการกระทำ มี 3 อย่าง
คือ (1) ปุญญาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นกามาวจรและรูปาวจร
(2) อปุญญาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว ได้แก่ อกุศลเจตนาทั้งหลาย (3) อาเนญชาภิสังขาร
สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคงไม่หวั่นไหว ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร 4 หมายเอาภาวะที่มั่นคง
แน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน (ขุ.ป. 31/114/128, อภิ.วิ.อ. 226/152)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :213 }