เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 7. นันทมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยอาสวะ 4
คำว่า เป็นผู้หมดอาสวะ ได้แก่ อาสวะ 4 อย่าง คือ
1. กามาสวะ (อาสวะคือกาม)
2. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ)
3. ทิฏฐาสวะ (อาสวะคือทิฏฐิ)
4. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา)
อาสวะเหล่านี้นรชนเหล่าใดละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้น
ตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
นรชนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า เป็นผู้หมดอาสวะ ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า นรชนเหล่าใด... กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ เรา
กล่าวว่า นรชนเหล่านั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว อธิบายว่า
นรชนเหล่าใดกำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ เรากล่าว คือ บอก แสดง
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า นรชนเหล่านั้นข้าม คือ
ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้น กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ
ทางแห่งสงสารทุกอย่างได้แล้ว รวมความว่า นรชนเหล่าใดกำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว
เป็นผู้หมดอาสวะ เรากล่าวว่านรชนเหล่านั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมด
ถูกชาติและชราโอบล้อม นรชนเหล่าใดในโลกนี้
ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับรู้
หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง
กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ
เรากล่าวว่านรชนเหล่านั้นแล
ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :211 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 7. นันทมาณวปัญหานิทเทส
[52] (ท่านนันทะกราบทูลว่า)
ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
นรชนเหล่าใดในโลกนี้ ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด
ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว
เป็นผู้หมดอาสวะ แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า
นรชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว (7)
คำว่า นี้ ในคำว่า ... ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ ของพระองค์ผู้ทรง
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า ข้าพระองค์พอใจ ชอบใจ คือ เบิกบานใจ
อนุโมทนา ต้องการ ยินดี ทูลขอ ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังพระดำรัส คือ
คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน คำพร่ำสอนนี้
คำว่า พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค
ชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อย่างไร
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสีลขันธ์อันยิ่งใหญ่ จึงชื่อว่า
ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ฯลฯ “พระผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพประทับอยู่ที่ไหน
พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน” จึงชื่อว่าพระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอัน
ยิ่งใหญ่ รวมความว่า ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอัน
ยิ่งใหญ่
คำว่า ตรัสไว้ดีแล้ว ในคำว่า ข้าแต่พระโคดม ธรรมที่ปราศจากอุปธิ
พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว อธิบายว่า ตรัสไว้ดีแล้ว คือ ตรัสบอกไว้ดีแล้ว แสดงไว้ดีแล้ว
บัญญัติไว้ดีแล้ว กำหนดไว้ดีแล้ว เปิดเผยไว้ดีแล้ว จำแนกไว้ดีแล้ว ทำให้ง่ายดีแล้ว
ประกาศไว้ดีแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :212 }