เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 7. นันทมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า หาก... สมณพราหมณ์พวกนั้น ในคำว่า หากพระองค์ผู้เป็นพระมุนี
ตรัสว่า สมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้ ได้แก่ สมณพราหมณ์ผู้
ถือทิฏฐิ
คำว่า พระองค์ผู้เป็นพระมุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ ฯลฯ
พระองค์ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่าพระมุนี
คำว่า ตรัสว่าสมณพราหมณ์พวกนั้นว่ายังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้ อธิบายว่า
สมณพราหมณ์พวกนั้น ข้ามไม่ได้ คือ ข้ามขึ้นไม่ได้ ข้ามพ้นไม่ได้ ก้าวล่วงไม่ได้
ก้าวพ้นไม่ได้ ล่วงเลยกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะไม่ได้ ได้แก่ หมุนเวียน
อยู่ภายในชาติ ชรา และมรณะ หมุนเวียนอยู่ภายในทางแห่งสงสาร ไปตามชาติ
ถูกชราติดตาม ถูกพยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ไม่มีที่ปกป้อง ไม่มีที่หลีกเร้น
ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย
คำว่า ตรัส ได้แก่ ตรัส คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า หาก...พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสว่าสมณ-
พราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าในเทวโลกและ
มนุษยโลก ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้ อธิบายว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครกันเล่า
ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ จึงข้าม คือ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยชาติ ชรา
และมรณะไปได้
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดย
ความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและ
ความยำเกรง รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าใน
เทวโลกและมนุษยโลก ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่
ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถาม คือ ทูลขอ ทูลอัญเชิญ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :207 }