เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 7. นันทมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ไม่เรียก... เพราะได้ฟัง ได้แก่ ไม่เรียก เพราะความหมดจดแห่ง
เสียงที่ได้ยิน
คำว่า ไม่เรียก... เพราะได้รู้ ได้แก่ ไม่เรียกเพราะญาณในสมาบัติ 8 บ้าง
ไม่เรียกเพราะญาณในอภิญญา 5 บ้าง ไม่เรียกเพราะมิจฉาญาณบ้าง รวมความว่า
ไม่เรียก... เพราะได้เห็น เพราะได้ฟัง และเพราะได้รู้
คำว่า ชนทั้งหลายผู้ฉลาด ในคำว่า นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้
ไม่เรียกบุคคลว่าเป็นมุนี อธิบายว่า ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในขันธ์ ฉลาดในธาตุ
ฉลาดในอายตนะ ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในสติปัฏฐาน ฉลาดในสัมมัปปธาน
ฉลาดในอิทธิบาท ฉลาดในอินทรีย์ ฉลาดในพละ ฉลาดในโพชฌงค์ ฉลาดในมรรค
ฉลาดในผล ฉลาดในนิพพาน ย่อมไม่เรียก คือ ย่อมไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง
ไม่ชี้แจงบุคคลผู้ประกอบ คือ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป
เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยความสะอาดแห่งรูปที่ได้เห็น ความหมดจดแห่ง
เสียงที่ได้ยิน ญาณในสมาบัติ 8 ญาณในอภิญญา1 5 มิจฉาญาณ รูปที่ได้เห็น หรือ
เสียงที่ได้ยินว่าเป็นมุนี รวมความว่า นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้ ไม่เรียก
บุคคลว่าเป็นมุนี
ว่าด้วยเสนามาร
คำว่า เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว ผู้ไม่มีความทุกข์ ไม่มี
ความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี อธิบายว่า เสนามารตรัสเรียกว่า เสนา
กายทุจริต ชื่อว่าเสนามาร วจีทุจริต ชื่อว่าเสนามาร มโนทุจริต ชื่อว่าเสนามาร ราคะ
ชื่อว่าเสนามาร โทสะ ชื่อว่าเสนามาร โมหะ ชื่อว่าเสนามาร โกธะ ฯลฯ อุปนาหะ
ฯลฯ มักขะ ฯลฯ ปฬาสะ ฯลฯ อิสสา ฯลฯ มัจฉริยะ ฯลฯ มายา ฯลฯ สาเถยยะ
ฯลฯ ถัมภะ ฯลฯ สารัมภะ ฯลฯ มานะ ฯลฯ อติมานะ ฯลฯ มทะ ฯลฯ ปมาทะ
ฯลฯ กิเลสทุกชนิด ฯลฯ ทุจริตทุกทาง ฯลฯ ความกระวนกระวายทุกอย่าง ฯลฯ
ความเร่าร้อนทุกสถาน ฯลฯ ความเดือดร้อนทุกประการ ฯลฯ อกุสลาภิสังขาร
ทุกประเภท ชื่อว่าเสนามาร สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

เชิงอรรถ :
1 อภิญญา 5 ได้แก่ (1) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ (2) ทิพพโสต หูทิพย์ (3) เจโตปริยญาณ
กำหนดรู้ใจคนอื่นได้ (4) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้ (5) ทิพพจักขุ ตาทิพย์ (ที.ปา.
11/431/307)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :197 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 7. นันทมาณวปัญหานิทเทส
กิเลสกามเราเรียกว่าเสนากองที่ 1 ของท่าน
ความไม่ยินดีเราเรียกว่าเสนากองที่ 2 ของท่าน
ความหิวกระหายเราเรียกว่าเสนากองที่ 3 ของท่าน
ตัณหาเราเรียกว่าเสนากองที่ 4 ของท่าน
ถีนมิทธะเราเรียกว่าเสนากองที่ 5 ของท่าน
ความกลัวเราเรียกว่าเสนากองที่ 6 ของท่าน
วิจิกิจฉาเราเรียกว่าเสนากองที่ 7 ของท่าน
มักขะและถัมภะเราเรียกว่าเสนากองที่ 8 ของท่าน
ลาภ ความสรรเสริญ สักการะและยศที่ได้มาผิด ๆ
เราเรียกว่าเสนากองที่ 9 ของท่าน
การยกตนและข่มผู้อื่นเราเรียกว่าเสนากองที่ 10 ของท่าน
มารเอ๋ย เสนาของท่านนี้ มีปกติประหารผู้มีธรรมดำ
คนขลาดเอาชนะเสนานั้นไม่ได้
แต่คนกล้า ครั้นชนะได้แล้วย่อมได้ความสุข1
เมื่อใด เสนามารทั้งหมดและกิเลสที่สร้างเสนาฝ่ายตรงข้ามทั้งปวง ถูกชน
เหล่าใดพิชิตและทำให้ปราชัย ถูกทำลาย กำจัด ทำให้ไม่สู้หน้าแล้วด้วยอริยมรรค 4
เมื่อนั้น ชนเหล่านั้น เรียกว่า ผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว
คำว่า ผู้ไม่มีความทุกข์ อธิบายว่า ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ
เป็นความทุกข์ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท เป็นทุกข์ ความทุกข์เหล่านี้
ชนเหล่าใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้
เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ชนเหล่านั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่มีความทุกข์
คำว่า ไม่มีความหวัง อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความหวัง ได้แก่
ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ความหวังคือตัณหานี้ ชนเหล่าใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบ
ได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ชนเหล่านั้น
ตรัสเรียกว่า ไม่มีความหวัง ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25 /439-442 /416, ขุ.ม.(แปล) 29/28/115-116,68/210,149/398

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :198 }