เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 6. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก
ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้
[42] (ท่านอุปสีวะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหวดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานปีไซร้
บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
มีความสงบเย็นอยู่ในพรหมโลกนั้นนั่นแลหรือ
หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก (5)
คำว่า ถ้าบุคคลผู้นั้น... ดำรงอยู่ ในคำว่า ถ้าบุคคนั้นไม่หวั่นไหว ดำรง
อยู่ในพรหมโลกนั้นนานปีไซร้ ได้แก่ ถ้าผู้นั้นพึงดำรงอยู่ได้ถึง 60,000 กัปไซร้
คำว่า ในนั้น ได้แก่ ในอากิญจัญญายตนสมาบัติ
คำว่า ไม่หวั่นไหว อธิบายว่า ไม่หวั่นไหว ไม่พรั่นพรึง ไม่หลบหนี ไม่
อันตรธานไป ไม่เสื่อมไป
อีกนัยหนึ่ง ไม่กำหนัด ไม่ขัดเคือง ไม่ลุ่มหลง ไม่เสื่อมไป รวมความว่า
ถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหวดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานปีไซร้
คำว่า นานปีไซร้ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ... นานปีไซร้
อธิบายว่า นานนับปีไม่ได้ คือ หลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี
หลายร้อยกัป หลายพันกัป หลายแสนกัป
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ อธิบายว่า พระสัพพัญญุตญาณ ตรัส
เรียกว่า สมันตจักขุ ฯลฯ พระตถาคต จึงชื่อว่ามีสมันตจักขุ ด้วยจักษุนั้น รวม
ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ... นานปีไซร้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :187 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 6. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว มีความสงบเย็นในพรหมโลกนั้นนั่นแล
หรือ หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก อธิบายว่า บุคคลนั้นพึงเป็นผู้ถึง
ความเป็นผู้สงบเย็น คือ เที่ยง มั่นคง แน่แท้ มีความไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา
ในพรหมโลกนั้นนั่นเอง ได้แก่ พึงดำรงอยู่อย่างนั้นเสมอกับสิ่งที่ยึดถือว่าแน่แท้ใน
พรหมโลกนั้นนั่นเอง
อีกนัยหนึ่ง พราหมณ์นั้นทูลถามถึงความแน่แท้ และความขาดสูญของบุคคล
ผู้เข้าอากิญจัญญายตนสมาบัติว่า วิญญาณของเขาพึงจุติ ขาดสูญ หาย พินาศ
ไม่พึงมีหรือ หรือว่าปฏิสนธิวิญญาณในภพใหม่พึงนิพพานในกามธาตุ รูปธาตุ
หรืออรูปธาตุ หรือว่าทูลถามถึงการปรินิพพาน และปฏิสนธิของบุคคลผู้เข้า
อากิญจัญญายตนสมาบัติว่า เขาพึงปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุใน
อากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นนั่นเอง หรือว่าวิญญาณของเขาพึงจุติ ปฏิสนธิวิญญาณ
พึงบังเกิด ในกามธาตุ รูปธาตุหรืออรูปธาตุอีก
คำว่า ของบุคคลนั้น ได้แก่ ของบุคคลนั้น คือ ของบุคคลผู้เช่นนั้น ดำรงอยู่
ดังนั้น มีประการดังนั้น เปรียบเทียบได้ดังนั้น ได้แก่ ผู้เข้าอากิญจัญญายตนสมาบัติ
อยู่แล้ว รวมความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว มีความสงบเย็นในพรหมโลกนั้น
นั่นแลหรือ หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น
จึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหวดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานปีไซร้
บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
มีความสงบเย็นอยู่ในพรหมโลกนั้นนั่นแลหรือ
หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก
[43] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป
ย่อมดับ กำหนดไม่ได้ ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :188 }