เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 6. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
(ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้)
บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก
ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ
[41] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก
ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้ (4)
คำว่า ทั้งปวง ในคำว่า บุคคใดคลายราคะในกามทั้งปวง ได้แก่ ทุกสิ่ง
โดยอาการทั้งปวง ทุกอย่างโดยทุกประการ ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการ
ทั้งปวง คำว่า ทั้งปวงนี้เป็นคำกล่าวรวม ๆ ไว้ทั้งหมด
คำว่า ในกาม อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม (2)
กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม1
คำว่า บุคคใดคลายราคะในกามทั้งปวง อธิบายว่า บุคคลใดเป็นผู้คายราคะแล้ว
คือปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คลายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว
สลัดทิ้งราคะแล้วในกามทั้งปวง โดยการข่มไว้ รวมความว่า บุคคลใดคลายราคะ
ในกามทั้งปวง
คำว่า อุปสีวะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ เป็นคำที่
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 8/66-67

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :185 }