เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 5. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า อันประเสริฐ ได้แก่ ธรรมอันเลิศ ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า
สูงสุด ยอดเยี่ยม
คำว่า เมื่อรู้ ได้แก่ เมื่อรู้ คือ เมื่อรู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอด รวมความว่า
แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐ
คำว่า เธอ ... ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้ อธิบายว่า
เธอก็พึงข้าม คือ ก้าวล่วง ล่วงเลยกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะได้
ด้วยประการฉะนี้ รวมความว่า เธอ ... ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ ด้วยประการฉะนี้
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
โธตกะ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใคร ๆ
ผู้มีความสงสัยในโลกได้
แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐ
ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้
[34] (ท่านโธตกะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอนวิเวกธรรม
ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ
ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล
เป็นผู้ไม่ยึดอาศัย เที่ยวไปอยู่ (5)
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ ... ตรัสสอน ในคำว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอน อธิบายว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์โปรดตรัสสอน คือ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์โปรดทรงอนุเคราะห์ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์โปรดทรง
เอื้อเฟื้อ รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์... ตรัสสอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :167 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 5. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ทรงพระกรุณา ได้แก่ ทรงพระกรุณา คือ ทรงเอ็นดู รักษา อนุเคราะห์
เอื้อเฟื้อ รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอน
คำว่า วิเวกธรรม ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ อธิบายว่า อมตนิพพานตรัส
เรียกว่า วิเวกธรรม ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด
เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
คำว่า ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ ได้แก่ ที่ข้าพระองค์พึงรู้ คือ พึงรู้ทั่ว
รู้เฉพาะ แทงตลอด บรรลุ ถูกต้อง ทำให้แจ้ง รวมความว่า วิเวกธรรม ที่
ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
คำว่า และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ อธิบายว่า
อากาศไม่ขัดข้อง คือ จับต้องไม่ได้ ไม่ติด ไม่พัวพัน ฉันใด ข้าพระองค์ไม่ขัดข้อง
คือ ไม่ยึดถือ ไม่ติด ไม่พัวพัน ฉันนั้น รวมความว่า ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ
อย่างนี้บ้าง
อากาศย้อมไม่ได้ด้วยน้ำครั่ง น้ำขมิ้น สีเขียว หรือสีน้ำฝาด ฉันใด ข้าพระองค์
ไม่กำหนัด ไม่ขัดเคือง ไม่ลุ่มหลง ไม่เศร้าหมอง ฉันนั้น รวมความว่า ไม่ขัดข้อง
เหมือนอากาศ อย่างนี้บ้าง
อากาศไม่กำเริบ ไม่พยาบาท ไม่หดหู่ ไม่กระทบกระทั่ง ฉันใด ข้าพระ-
องค์ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่หดหู่ ไม่กระทบ ไม่กระทั่ง ฉันนั้น รวมความว่า
ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ อย่างนี้บ้าง
คำว่า ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล ในคำว่า ข้าพระองค์จะพึงสงบ
อยู่ในที่นี้แล เป็นผู้ไม่ยึดอาศัย เที่ยวไปอยู่ อธิบายว่า เป็นผู้อยู่ในที่นี้แล คือ
เป็นผู้นั่งอยู่ในที่นี้แล เป็นผู้นั่งอยู่แล้วบนอาสนะนี้แล เป็นผู้นั่งอยู่ในบริษัทนี้แล
รวมความว่า ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง สงบได้แล้ว คือ เข้าไปสงบได้แล้ว สงบเย็นแล้ว ดับได้แล้ว
สงบระงับได้แล้ว ในที่นี้แล รวมความว่า สงบอยู่ในที่นี้แล อย่างนี้บ้าง
คำว่า เป็นผู้ไม่ยึดอาศัย อธิบายว่า การอาศัย 2 อย่าง คือ (1) การ
อาศัยด้วยอำนาจตัณหา (2) การอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าการอาศัย
ด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าการอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :168 }