เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 5. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
ตนทำชั่วเอง ก็เศร้าหมองเอง ไม่ทำชั่ว ก็บริสุทธิ์เอง
ความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน
คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้1
รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง แม้ด้วยประการฉะนี้
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ฉันนั้นเหมือนกันแหละพราหมณ์
นิพพานมีอยู่ ทางไปนิพพานมีอยู่ เรา(ตถาคต)ผู้ชักชวนมีอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้
สาวกที่เราสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกสำเร็จนิพพานอันถึง
ที่สุดโดยส่วนเดียว บางพวกก็ไม่สำเร็จ ในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตก็
เป็นแต่ผู้บอกทาง พระพุทธเจ้าก็เพียงบอกทางให้ บุคคลผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง จะ
พึงหลุดพ้นได้ ด้วยประการฉะนี้”2 รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง
อย่างนี้บ้าง
คำว่า โธตกะ ... ใคร ๆ ผู้มีความสงสัยในโลกได้ อธิบายว่า บุคคลผู้มี
ความสงสัย คือ มีความแคลงใจ มีความระแวง มีความเห็นสองจิตสองใจ มี
ความข้องใจ
คำว่า ใคร ๆ ได้แก่ ใคร ๆ คือ เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์
บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก3 รวมความว่า โธตกะ
... ใคร ๆ ผู้มีความสงสัยในโลกได้
คำว่า แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐ อธิบายว่า อมตนิพพานตรัส
เรียกว่า ธรรมอันประเสริฐ ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้ง
อุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ธ. 25/165/46, ขุ.ม.(แปล) 29/8/41
2 ม.อุ. 14/77/57-58
3 ดูรายละเอียดข้อ 4/54

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :166 }