เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 5. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
1. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว
2. ลอยวิจิกิจฉาได้แล้ว
3. ลอยสีลัพพตปรามาสได้แล้ว
4. ลอยราคะได้แล้ว
5. ลอยโทสะได้แล้ว
6. ลอยโมหะได้แล้ว
7. ลอยมานะได้แล้ว
คือ พระผู้มีพระภาคทรงลอยบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง
ก่อภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และ
มรณะต่อไปได้แล้ว
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ)
บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากมลทิน
เป็นผู้ประเสริฐ มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง
ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์1
คำว่า เสด็จจาริกอยู่ ได้แก่ เสด็จเที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ไม่มีเครื่องกังวล เป็นพราหมณ์ เสด็จ
จาริกอยู่
คำว่า พระองค์ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ เพราะเหตุนั้น
ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์ เป็นคำที่โธตกพราหมณ์เรียกพระผู้มีพระภาค
คำว่า ขอนมัสการ อธิบายว่า ขอนมัสการ คือ ขอสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา ด้วยกาย วาจา ใจ ด้วยการปฏิบัติเอื้อประโยชน์ หรือด้วยการปฏิบัติธรรม
ถูกต้องตามหลักธรรม

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/525/436, ขุ.ม.(แปล) 29/25/105

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :162 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 5. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ผู้มีสมันตจักขุ อธิบายว่า พระสัพพัญญุตญาณตรัสเรียกว่า
สมันตจักขุ พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม
เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้วด้วยพระสัพพัญญุตญาณนั้น
(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
สิ่งไร ๆ ในไตรโลกธาตุนี้
พระปัญญาจักขุของพระตถาคตนั้น ไม่เห็น ไม่มีเลย
อนึ่ง ธรรมชาติอะไร ๆ ที่ควรรู้
พระพุทธญาณไม่รู้แจ้ง ก็ไม่มี
ธรรมชาติที่ควรแนะนำใดมีอยู่
พระตถาคตได้ทรงทราบธรรมชาติที่ควรแนะนำนั้นทั้งหมด
เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงชื่อว่าผู้มีสมันตจักขุ1
รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ขอพระองค์
โปรดปลดเปลื้องข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลายเถิด อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล จึงชื่อว่าผู้สักกะ
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก ทรงมีทรัพย์ จึงชื่อ
ว่าผู้สักกะ
พระองค์ทรงมีทรัพย์เหล่านี้ คือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ
ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา ทรัพย์คือ
สติปัฏฐาน ทรัพย์คือสัมมัปปธาน ทรัพย์คืออิทธิบาท ทรัพย์คืออินทรีย์ ทรัพย์
คือพละ ทรัพย์คือโพชฌงค์ ทรัพย์คือมรรค ทรัพย์คือผล ทรัพย์คือนิพพาน
พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก ทรงมีทรัพย์ด้วยทรัพย์ที่เป็นรัตนะ
หลายอย่างเหล่านี้ จึงชื่อว่าผู้สักกะ

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ม.(แปล) 29/156/430-431, ขุ.ป. 31/121/136-137

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :163 }