เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 5. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
สมมุติเทพ เป็นอย่างไร
คือ พระราชา พระราชกุมาร พระราชเทวี เรียกว่าสมมุติเทพ
อุบัติเทพ เป็นอย่างไร
คือ เทวดาชั้นจาตุมหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์ เทวดาชั้นยามา เทวดาชั้นดุสิต
เทวดาชั้นนิมมานรดี เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหม
และเทวดาชั้นสูงขึ้นไปกว่านั้น เรียกว่าอุบัติเทพ
วิสุทธิเทพ เป็นอย่างไร
คือ พระอรหันตขีณาสพ ผู้เป็นสาวกของพระตถาคต เรียกว่าวิสุทธิเทพ
และพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็เรียกว่าวิสุทธิเทพ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นเทพ เป็น
อติเทพ และเป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ยิ่งกว่าสมมุติเทพ อุบัติเทพ และวิสุทธิเทพทั้งหลาย
ทรงเป็นราชสีห์ยิ่งกว่าราชสีห์ เป็นนาคยิ่งกว่านาค เป็นผู้นำหมู่ยิ่งกว่าผู้นำหมู่
เป็นพระมุนียิ่งกว่าพระมุนี เป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา
คำว่า ข้าพระองค์ย่อมเห็น ... ในเทวโลกและมนุษยโลก อธิบายว่า ข้า
พระองค์ย่อมเห็น คือ แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณาเห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นเทพ
ผู้ทรงเป็นอติเทพ ผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพ รวมความว่า ข้าพระองค์ย่อมเห็น...
ในเทวโลกและมนุษยโลก
คำว่า ไม่มีเครื่องกังวล ในคำว่า ไม่มีเครื่องกังวล เป็นพราหมณ์ เสด็จ
จาริกอยู่ อธิบายว่า เครื่องกังวลคือราคะ เครื่องกังวลคือโทสะ เครื่องกังวลคือโมหะ
เครื่องกังวลคือมานะ เครื่องกังวลคือทิฏฐิ เครื่องกังวลคือกิเลส เครื่องกังวลคือทุจริต
เครื่องกังวลเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอน
โคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้น
ต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มีเครื่องกังวล

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่าเป็นพราหมณ์
คำว่า เป็นพราหมณ์ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าเป็นพราหมณ์
เพราะทรงลอยธรรม 7 ประการได้แล้ว คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :161 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 5. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
1. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว
2. ลอยวิจิกิจฉาได้แล้ว
3. ลอยสีลัพพตปรามาสได้แล้ว
4. ลอยราคะได้แล้ว
5. ลอยโทสะได้แล้ว
6. ลอยโมหะได้แล้ว
7. ลอยมานะได้แล้ว
คือ พระผู้มีพระภาคทรงลอยบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง
ก่อภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และ
มรณะต่อไปได้แล้ว
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ)
บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากมลทิน
เป็นผู้ประเสริฐ มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง
ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์1
คำว่า เสด็จจาริกอยู่ ได้แก่ เสด็จเที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ไม่มีเครื่องกังวล เป็นพราหมณ์ เสด็จ
จาริกอยู่
คำว่า พระองค์ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ เพราะเหตุนั้น
ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์ เป็นคำที่โธตกพราหมณ์เรียกพระผู้มีพระภาค
คำว่า ขอนมัสการ อธิบายว่า ขอนมัสการ คือ ขอสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา ด้วยกาย วาจา ใจ ด้วยการปฏิบัติเอื้อประโยชน์ หรือด้วยการปฏิบัติธรรม
ถูกต้องตามหลักธรรม

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/525/436, ขุ.ม.(แปล) 29/25/105

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :162 }