เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 5. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
(ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง
บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน
[31] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน
มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล
บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน (2)
คำว่า ถ้าเช่นนั้น เธอ...จงทำความเพียร อธิบายว่า เธอจงทำความเพียร
คือ จงทำความอุตสาหะ ความหมั่นเพียร ความพยายาม ความทรงจำ ความ
เป็นผู้กล้า ได้แก่ จงให้ฉันทะเกิด คือ จงให้เกิดขึ้น ตั้งขึ้นไว้ ตั้งขึ้นไว้พร้อม ให้บังเกิด
ให้บังเกิดขึ้น รวมความว่า ถ้าเช่นนั้น เธอ...จงทำความเพียร
คำว่า โธตกะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ
คำว่า ในที่นี้ ในคำว่า ผู้มีปัญญารักษาตน มีสติ ... ในที่นี้แล อธิบายว่า
ในความเห็นนี้ คือ ในความถูกใจนี้ ความพอใจนี้ ความยึดถือนี้ ธรรมนี้ วินัยนี้
ธรรมวินัยนี้ ปาพจน์นี้ พรหมจรรย์นี้ สัตถุศาสน์นี้ อัตภาพนี้ มนุษยโลกนี้
คำว่า ผู้มีปัญญารักษาตน ได้แก่ ผู้มีปัญญารักษาตน คือ ผู้เป็นบัณฑิต มี
ปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเป็นเครื่อง
ทำลายกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :158 }