เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ไม่มีความหวัง อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความหวัง ได้แก่
ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ความหวัง คือ ตัณหาเหล่านี้ ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้
สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น
ตรัสเรียกว่า ไม่มีความหวัง
คำว่า ชาติ ได้แก่ การเกิด คือ เกิดขึ้น การก้าวลง(สู่ครรภ์) การบังเกิด
การบังเกิดขึ้น ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะในหมู่สัตวนั้น ๆ
ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า ชรา ได้แก่ ความแก่ คือ ความทรุดโทรม ความเป็นผู้มีฟันหัก
ความเป็นผู้มีผมหงอก ความเป็นผู้มีหนังเหี่ยว ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อม
แห่งอินทรีย์ทั้งหลายในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า นรชนนั้นเป็นผู้คลายตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เรา
กล่าวว่า นรชนนั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว อธิบายว่า เรากล่าว คือ บอก แสดง
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า ผู้ที่ปราศจากตัณหา
ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ข้าม คือ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยชาติ ชรา
และมรณะได้แล้ว รวมความว่า นรชนนั้นเป็นผู้คลายตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มี
ความหวัง เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสตอบว่า
นรชนใดในที่นี้ เป็นผู้มีปัญญา จบเวท
สลัดเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้ได้แล้ว
นรชนนั้นเป็นผู้คลายตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ เมตตคูมาณพ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
เมตตคูมาณวปัญหานิทเทสที่ 4 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :154 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 5. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
5. โธตกมาณวปัญหานิทเทส1
ว่าด้วยปัญหาของโธตกมาณพ
[30] (ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง
บุคคลได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน (1)

ว่าด้วยการถาม 3
คำว่า ขอทูลถาม ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถาม
พระองค์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ได้แก่
การถาม 3 อย่าง คือ
1. การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น
2. การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
3. การถามเพื่อตัดความสงสัย ฯลฯ
การถามอีก 3 อย่าง ฯลฯ
3 การถามถึงนิพพาน2
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระ
องค์ คือ ทูลขอพระองค์ ทูลอัญเชิญให้ตรัส ทูลให้ทรงประกาศว่า ขอพระองค์
โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/1068-1075/537-538
2 ดูรายละเอียดข้อ 12/84-91,18/110-113

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :155 }