เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
เย็บเรียบร้อยแล้วดำรงตนอยู่ มิต้องดับ (ไฟคือกิเลส) มิต้องก่อ ดับได้แล้ว
ดำรงตนอยู่ ชื่อว่าดำรงตนอยู่ได้เพราะประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ... ด้วย
สมาธิขันธ์ ... ด้วยปัญญาขันธ์ ... ด้วยวิมุตติขันธ์ ... ดำรงตนอยู่ด้วยวิมุตติ
ญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ แทงตลอดสัจจะแล้ว ดำรงตนอยู่โดยการก้าวล่วง
ตัณหาอันเป็นเหตุให้หวั่นไหว ดำรงตนอยู่โดยการดับไฟคือกิเลส ดำรงตนอยู่โดย
ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ดำรงตนอยู่โดยการสมาทานธรรมขั้นสุดยอด ดำรงตนอยู่
โดยการเสพวิมุตติ ดำรงตนอยู่ด้วยเมตตาอันบริสุทธิ์ ... ด้วยกรุณา... ด้วย
มุทิตาอันบริสุทธิ์ ... ดำรงตนอยู่ด้วยอุเบกขาอันบริสุทธิ์ ดำรงตนอยู่ด้วยความ
บริสุทธิ์อย่างยิ่ง ดำรงตนอยู่ด้วยความบริสุทธิ์เพราะไม่มีตัณหาทิฏฐิและมานะ
ดำรงตนอยู่โดยความเป็นผู้หลุดพ้น ดำรงตนอยู่โดยความเป็นผู้สันโดษ ดำรงตน
อยู่ในขันธ์สุดท้าย ดำรงตนอยู่ในธาตุสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในอายตนะสุดท้าย
ดำรงตนอยู่ในคติสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในการถือกำเนิดสุดท้าย ดำรงตนอยู่ใน
ปฏิสนธิสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในภพสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในสงสารสุดท้าย ดำรง
ตนอยู่ในวัฏฏะสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในภพสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในประชุมแห่งขันธ์
ขั้นสุดท้าย ทรงไว้ซึ่งร่างกายขั้นสุดท้าย เป็นผู้ไกลจากข้าศึก
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
พระขีณาสพนั้น มีภพนี้เป็นภพสุดท้าย
มีประชุมแห่งขันธ์นี้เป็นครั้งสุดท้าย
ไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก1
คำว่า และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง อธิบายว่า อมตนิพพานตรัสเรียกว่า ฝั่ง คือ
ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่
คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
บุคคลนั้นถึงฝั่ง บรรลุฝั่ง ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงปลายสุด บรรลุ
ปลายสุด ถึงท้ายสุด บรรลุท้ายสุด ถึงความสำเร็จ บรรลุความสำเร็จ ถึงที่ปกป้อง
บรรลุที่ปกป้อง ถึงที่หลีกเร้น บรรลุที่หลีกเร้น ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึ่ง ถึงที่ไม่มีภัย

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ม. (แปล) 29/6/27

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :150 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
บรรลุที่ไม่มีภัย ถึงที่ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงที่ไม่ตาย บรรลุที่ไม่ตาย ถึงที่ดับ
บรรลุที่ดับ บุคคลนั้นอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ฯลฯ
ไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า และ
เป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง
คำว่า ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต อธิบายว่า ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ
อุปนาหะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ชื่อว่ากิเลสดุจตะปูตรึงจิต กิเลสดุจ
ตะปูตรึงจิตเหล่านี้ ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่มีกิเลสดุจ
ตะปูตรึงจิต
คำว่า หมดความสงสัย อธิบายว่า ความสงสัยในทุกข์ ความสงสัยในทุกข-
สมุทัย ความสงสัยในทุกขนิโรธ ความสงสัยในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความ
สงสัยในส่วนเบื้องต้น ความสงสัยในส่วนเบื้องปลาย ความสงสัยทั้งในส่วนเบื้อง
ต้นและส่วนเบื้องปลาย ความสงสัยในปฏิจจสมุปบาทว่าเพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย
ธรรมนี้จึงมี ความสงสัย กิริยาที่สงสัย ภาวะที่สงสัย ความเคลือบแคลง ความลังเล
ความเห็นเป็น 2 ฝ่าย 2 ทาง ความไม่แน่ใจ ความยึดถือหลายอย่าง ความ
ไม่ตกลงใจ ความตัดสินใจไม่ได้ ความกำหนดถือไม่ได้ ความหวาดหวั่นแห่งจิต
ความติดขัดในใจเห็นปานนี้
ความสงสัยเหล่านี้ ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้
หมดความสงสัย รวมความว่า และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต หมด
ความสงสัยแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท
ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ
ข้ามโอฆะได้แล้วโดยแท้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต หมดความสงสัยแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :151 }