เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 2. มาณวปัญหา 4. เมตตคูมาณวปัญหา
เราขอกล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ (4)
[72] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ถ้าชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามชาติและชราได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (5)
[73] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ
เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก
บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์
ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว (6)
ปุณณกมาณวปัญหาที่ 3 จบ

4. เมตตคูมาณวปัญหา1
ว่าด้วยปัญหาของเมตตคูมาณพ
[74] (ท่านเมตตคูทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า ทรงเป็นผู้จบเวท
ทรงอบรมพระองค์แล้ว ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากที่ไหนหนอ (1)

เชิงอรรถ :
1 ดูคำอธิบายในหน้า 110-154

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :15 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 2. มาณวปัญหา 4. เมตตคูมาณวปัญหา
[75] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่เรารู้
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ล้วนเกิดมาจากอุปธิเป็นต้นเหตุ (2)
[76] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ย่อมก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า
มีชาติเป็นแดนเกิด ไม่ควรก่ออุปธิ (3)
[77] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาใดกับพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด
นักปราชญ์ทั้งหลายจะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา
โสกะและปริเทวะได้อย่างไรหนอ
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสแก้ปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (4)
[78] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
เราจักกล่าวธรรม(นั้น)ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้ว แก่เธอ (5)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :16 }