เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงถึง เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงถึงฉันทาคติ(ลำเอียงเพราะชอบ) ไม่ทรงถึงโทสาคติ
(ลำเอียงเพราะชัง) ไม่ทรงถึงโมหาคติ(ลำเอียงเพราะหลง) ไม่ทรงถึงภยาคติ
(ลำเอียงเพราะกลัว) พระองค์ไม่ทรงดำเนินไปด้วยอำนาจราคะ ไม่ดำเนินไปด้วย
อำนาจโทสะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจโมหะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจทิฏฐิ ไม่
ดำเนินไปด้วยอำนาจมานะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจอุทธัจจะ ไม่ดำเนินไปด้วย
อำนาจวิจิกิจฉา ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจอนุสัย ได้แก่ ไม่ทรงดำเนินไป ไม่เสด็จ
ออกไป ไม่ทรงถูกพาไป ไม่ทรงถูกนำไปด้วยธรรมที่ก่อความเป็นฝักเป็นฝ่าย
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะเพราะไม่ทรงถึง เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงกลับมาหา เป็นอย่างไร
คือ กิเลสเหล่าใดพระผู้มีพระภาคทรงละได้แล้ว ด้วยโสดาปัตติมรรค
พระผู้มีพระภาคไม่เสด็จมา ไม่เสด็จกลับมา ไม่ทรงหวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก
กิเลสเหล่าใด พระผู้มีพระภาคทรงละได้แล้วด้วยสกทาคามิมรรค ฯลฯ ด้วย
อนาคามิมรรค ฯลฯ ด้วยอรหัตตมรรค พระองค์ไม่เสด็จมา ไม่เสด็จกลับมา ไม่
ทรงหวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่กลับมา
หา เป็นอย่างนี้ รวมความว่า ข้าพระองค์จึงมาพบพระผู้มีพระภาคผู้นาคะ ขอ
นมัสการพระองค์
คำว่า พระผู้มีพระภาคพึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง ได้แก่
ขอพระผู้มีพระภาคพึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อน คือ พึงตรัสสอนโดยเอื้อเฟื้อ
ตรัสสอนเนือง ๆ ตรัสสอนบ่อย ๆ คือ พร่ำสอนบ้าง รวมความว่า พระผู้มี-
พระภาคพึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึง
กราบทูลว่า
พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่หยุดหย่อน
ชนแม้เหล่านั้นพึงละทุกข์ได้เป็นแน่
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงมาพบพระผู้มีพระภาคผู้นาคะ
ขอนมัสการพระองค์ (โดยหวังว่า)พระผู้มีพระภาค
พึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :146 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
[28] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท
ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ
ข้ามโอฆะได้แล้วโดยแท้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต หมดความสงสัยแล้ว (11)

ว่าด้วยบุคคลได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์
คำว่า บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท อธิบายว่า
คำว่า พราหมณ์ อธิบายว่า ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยธรรม 7 ประการ
ได้แล้ว คือ
1. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว
2. ลอยวิจิกิจฉาได้แล้ว
3. ลอยสีลัพพตปรามาสได้แล้ว
4. ลอยราคะได้แล้ว
5. ลอยโทสะได้แล้ว
6. ลอยโมหะได้แล้ว
7. ลอยมานะได้แล้ว
คือ พราหมณ์ลอยบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะ ต่อไปได้แล้ว
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ)
บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากมลทิน
เป็นผู้ประเสริฐ มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง
ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์1

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/525-436, ขุ.ม.(แปล) 29/25/105

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :147 }