เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คือ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน ความไม่ถอยกลับ
สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ความเพียรแรงกล้า ความตั้งใจ
ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า “เราพึงทำสีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์โดย
อุบายอย่างไร หรือพึงใช้ปัญญาตามรักษาสีลขันธ์ให้บริบูรณ์ในข้อนั้น ๆ โดยอุบาย
อย่างไร” ดังนี้ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ... ความพอใจ ความ
พยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน ความไม่ถอยกลับ สติสัมปชัญญะ ความ
เพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ความเพียรแรงกล้า ความตั้งใจ ความประกอบเนือง ๆ
ด้วยคิดว่า “เราพึงทำสมาธิขันธ์ ฯลฯ ปัญญาขันธ์ ฯลฯ วิมุตติขันธ์ ฯลฯ
วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ โดยอุบายอย่างไร หรือพึงใช้
ปัญญาตามรักษาวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่บริบูรณ์ในข้อนั้น ๆ โดยอุบายอย่างไร”
ดังนี้ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ความพอใจ ความพยายาม ความ
อุตสาหะ ความขยัน ความไม่ถอยกลับ สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่อง
เผากิเลส ความเพียรแรงกล้า ความตั้งใจ ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า
“เราพึงกำหนดรู้ทุกข์ที่ยังมิได้กำหนดรู้ พึงละกิเลสที่ยังมิได้ละ พึงเจริญมรรคที่ยัง
มิได้เจริญ หรือทำให้แจ้งนิโรธที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง โดยอุบายอย่างไร” ดังนี้ ชื่อว่า
ไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย รวมความว่า (ภิกษุ) ผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ
ไม่ประมาท
คำว่า ภิกษุ ในคำว่า ภิกษุ ... ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้ว เที่ยวไปอยู่
ได้แก่ ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือภิกษุผู้เป็นพระเสขะ
คำว่า เที่ยวไปอยู่ ได้แก่ เที่ยวไป คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา 2 อย่าง
คือ (1) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (2) ความยึดถือว่าเป็นของ
เราด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ
นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :140 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ภิกษุละความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งความยึดถือว่า
เป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ คือ ละ สละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีก ซึ่งความยึดถือว่าของเรา รวมความว่า ภิกษุ ... ละความยึดถือว่า
เป็นของเราแล้ว เที่ยวไปอยู่
คำว่า ชาติ ในคำว่า รู้แจ้ง ... พึงละชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะอัน
เป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน ได้แก่ การเกิด คือเกิดขึ้น การก้าวลง(สู่ครรภ์)
การบังเกิด การบังเกิดขึ้น ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะในหมู่
สัตว์นั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า ชรา ได้แก่ ความแก่ คือ ความทรุดโทรม ความเป็นผู้มีฟันหัก
ความเป็นผู้มีผมหงอก ความเป็นผู้มีหนังเหี่ยว ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อม
แห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า โสกะ ได้แก่ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก
ความเศร้าโศกภายใน ความเศร้าโศกมากภายใน ความหม่นไหม้ภายใน ความ
เร่าร้อนภายใน ความหม่นไหม้แห่งจิต ความทุกข์ใจ ลูกศรคือความเศร้าโศก
ของผู้ที่ถูกความเสียหายของญาติกระทบบ้าง ถูกความเสียหายแห่งโภคทรัพย์
กระทบบ้าง ถูกความเสียหายเพราะโรคกระทบบ้าง ถูกสีลวิบัติกระทบบ้าง ถูก
ทิฏฐิวิบัติกระทบบ้าง ประจวบกับความเสียหายอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง ถูก
เหตุแห่งทุกข์อื่นนอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง
คำว่า ปริเทวะ ได้แก่ ความบ่นเพ้อ ความคร่ำครวญ กิริยาที่บ่นเพ้อ
กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะที่บ่นเพ้อ ภาวะที่คร่ำครวญ การพูดพล่าม การพูดเพ้อ
การพูดเพ้อเจ้อ ความพร่ำเพ้อ กิริยาที่พร่ำเพ้อ ภาวะที่พร่ำเพ้อ ของผู้ถูกความ
เสียหายของญาติกระทบบ้าง ... ถูกทิฏฐิวิบัติกระทบบ้าง ประจวบกับความเสีย
หายอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง ถูกเหตุแห่งทุกข์อื่นนอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง
คำว่า นี้ ได้แก่ ในความเห็นนี้ ฯลฯ ในมนุษยโลกนี้
คำว่า รู้แจ้ง ได้แก่ มีความรู้แจ้ง คือ มีวิชชา มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง
มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :141 }