เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร
คือ ฯลฯ ด้วยส่วนแห่งตัณหาเท่าใด ฯลฯ นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจ
ตัณหา
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ 20 ฯลฯ นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ1
คำว่า เธอจงบรรเทา... และวิญญาณ อธิบายว่า วิญญาณที่สหรคตด้วย
ปุญญาภิสังขาร วิญญาณที่สหรคตด้วยอปุญญาภิสังขาร วิญญาณที่สหรคตด้วย
อาเนญชาภิสังขาร เธอจงสลัด บรรเทา ถอน ถอนเสีย ละ ละทิ้ง ละให้หมด
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งความเพลิดเพลิน ความถือมั่นและ
วิญญาณที่สหรคตด้วยอภิสังขารในธรรมเหล่านี้ รวมความว่า เธอจงบรรเทาความ
เพลิดเพลิน ความถือมั่นและวิญญาณ ในธรรมเหล่านี้เสีย
คำว่า ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ อธิบายว่า
คำว่า ภพ ได้แก่ ภพ 2 คือ (1) กรรมภพ (2) ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ
กรรมภพ เป็นอย่างไร
คือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร นี้ชื่อว่ากรรมภพ
ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ เป็นอย่างไร
คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีในปฏิสนธิ นี้ชื่อว่า
ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ
คำว่า ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ อธิบายว่า ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีกซึ่งความเพลิดเพลิน ความถือมั่นวิญญาณที่สหรคตด้วยอภิสังขาร
กรรมภพ และภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ ไม่พึงตั้งอยู่ในกรรมภพ ไม่พึงตั้งอยู่ คือ
ไม่พึงดำรงอยู่ในภพใหม่ อันมีในปฏิสนธิ รวมความว่า เธอจงบรรเทา...และ
วิญญาณในธรรมเหล่านี้เสีย ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า

เชิงอรรถ :
1 เทียบกับความในข้อ 11/80-81

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :138 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เธอจงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความถือมั่น
และวิญญาณในธรรมเหล่านี้เสีย ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ
[25] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท
รู้แจ้ง ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้ว
เที่ยวไปอยู่ พึงละชาติ ชรา โสกะและปริเทวะ
อันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน (8)
คำว่า ผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ ในคำว่า ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ
ไม่ประมาท อธิบายว่า ภิกษุผู้ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก
ซึ่งความเพลิดเพลิน ความยึดมั่นถือมั่น วิญญาณที่สหรคตด้วยอภิสังขาร กรรมภพ
และภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ รวมความว่า ผู้มีปกติอยู่อย่างนี้
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ 4 อย่าง คือ
1. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ ภิกษุนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า มีสติ1

ว่าด้วยความไม่ประมาท
คำว่า ไม่ประมาท อธิบายว่า ผู้ทำด้วยความเอื้อเฟื้อ ทำติดต่อ ทำไม่หยุด
ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ละความพอใจ ไม่ทอดธุระ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรม
ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 8/70-71

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :139 }