เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่า
วิสัตติกา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ1

ว่าด้วยตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา
คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมายอย่างไร
ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะแผ่ไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะซ่านไป ชื่อว่าวิสัตติกา
เพราะขยายไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะไม่สม่ำเสมอ ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะครอบงำ
ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะสะท้อนไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะเป็นตัวการให้พูดผิด
ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีรากเป็นพิษ ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีผลเป็นพิษ ชื่อว่า
วิสัตติกา เพราะเป็นตัวการให้บริโภคสิ่งมีพิษ
อีกนัยหนึ่ง ตัณหานั้นแผ่ไป ซ่านไป ขยายไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ตระกูล หมู่คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ
สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ
ปัญจโวการภพ อดีต อนาคต ปัจจุบัน รูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ได้ยินแล้ว กลิ่น รส
โผฏฐัพพะที่รับรู้แล้ว และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ฉะนั้น จึงชื่อว่าวิสัตติกา
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ผู้มีสติ พึงข้าม
คือ พึงข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ รวม
ความว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 2/50-51

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :132 }