เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
พระเสขะ 7 จำพวก ชื่อว่าเสขมุนี
พระอรหันต์ทั้งหลาย ชื่อว่าอเสขมุนี
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าปัจเจกมุนี
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสเรียกว่ามุนิมุนี
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า)
บุคคลโง่เขลาไม่รู้อะไร เพียงแต่นั่งนิ่ง ๆ หาชื่อว่าเป็นมุนีไม่
ส่วนบุคคลผู้ฉลาดเลือกชั่งเอาแต่สิ่งที่ดี ละทิ้งสิ่งที่ชั่ว
เหมือนบุคคลชั่งสิ่งของ จึงจะชื่อว่าเป็นมุนีแท้
ผู้ที่รู้โลกทั้ง 2 ก็เรียกว่า เป็นมุนี (เช่นกัน)1
ผู้รู้ธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ
ทั้งภายในและภายนอกในโลกทั้งปวง
เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง2
และตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี3
คำว่า แก้ (ปัญหานั้น) ให้แจ่มแจ้ง ได้แก่ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก คือ
โปรดแสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศปัญหานั้นให้
แจ่มแจ้ง รวมความว่า พระองค์ผู้ทรงเป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสแก้ปัญหานั้นแก่
ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
คำว่า เพราะธรรมนั้น พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว อธิบายว่า เพราะ
พระองค์ทรงทราบ คือ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
รวมความว่า เพราะธรรมนั้น พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น
จึงกราบทูลว่า

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ธ. 25/268-269/63
2 เครื่องข้อง มี 7 อย่าง ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และทุจริต (ขุ.ม. (แปล)
29/183/520)
3 ขุ.สุ. 25/533/438

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :129 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาใดกับพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด
นักปราชญ์ทั้งหลาย จะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา
โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสแก้ปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้น พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว
[22] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
เราจักกล่าวธรรม(นั้น)ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้ว แก่เธอ (5)
คำว่า ธรรม ในคำว่า เราจักกล่าวธรรม...แก่เธอ อธิบายว่า เราจักกล่าว
คือ จักบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศพรหมจรรย์
ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด พร้อมทั้ง
อรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4
อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 นิพพาน
และปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน รวมความว่า เราจักกล่าวธรรม...แก่เธอ
คำว่า เมตตคู เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้ว ในคำว่า ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง ในธรรมที่
เราเห็นแล้ว อธิบายว่า ในธรรมที่เราได้เห็นแล้ว คือ ในธรรมที่ได้รู้แล้ว ใน
ธรรมที่ได้เทียบเคียงแล้ว ในธรรมที่ได้พิจารณาแล้ว ในธรรมที่ทำให้แจ้งแล้ว ใน
ธรรมที่ทำให้กระจ่างแล้ว ได้แก่ ในธรรมที่เราได้เห็นแล้ว คือ ในธรรมที่ได้รู้แล้ว
ในธรรมที่ได้เทียบเคียงแล้ว ในธรรมที่ได้พิจารณาแล้ว ในธรรมที่ทำให้แจ้งแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :130 }