เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
โมเนยยธรรมทางใจ เป็นอย่างไร
คือ การละมโนทุจริต 3 อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ มโนสุจริต 3 อย่าง
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ ญาณมีใจเป็นอารมณ์ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ จิตต-
ปริญญา (การกำหนดรู้จิต) ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ มรรคที่สหรคตด้วยปริญญา
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในจิต ชื่อว่า
โมเนยยธรรมทางใจ ความดับแห่งจิตตสังขาร การบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ ชื่อว่า
โมเนยยธรรมทางใจ นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า)
บัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลผู้เป็นมุนีทางกาย
เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ ผู้ไม่มีอาสวะ
ว่าเป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยโมเนยยธรรม ละกิเลสทั้งปวงได้
บัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลผู้เป็นมุนีทางกาย
เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ ผู้ไม่มีอาสวะ
ว่าเป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยโมเนยยธรรม ล้างบาปได้แล้ว1
มุนีผู้ประกอบด้วยโมเนยยธรรม 3 ประการเหล่านี้ มี 6 จำพวก คือ
(1) อาคารมุนี (2) อนาคารมุนี (3) เสขมุนี (4) อเสขมุนี (5) ปัจเจกมุนี
(6) มุนิมุนี
อาคารมุนี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้ครองเรือน เห็นทาง(นิพพาน)แล้ว รู้แจ้งหลักคำสอนแล้ว
เหล่านี้ชื่อว่าอาคารมุนี
อนาคารมุนี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้เป็นบรรพชิต เห็นทาง(นิพพาน)แล้ว รู้แจ้งหลักคำสอนแล้ว
เหล่านี้ชื่อว่าอนาคารมุนี

เชิงอรรถ :
1 ล้างบาป หมายถึงล้างบาปด้วยมรรคญาณ (ขุ.ม.อ. 14/173)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :128 }