เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
เมตตคู
คำว่า แดนเกิดแห่งทุกข์นั้น ในคำว่า เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่
เธอตามที่เรารู้ อธิบายว่า เราจะบอก คือ จักพูด แสดง บัญญัติ กำหนด เปิด
เผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศมูล บอกเหตุ บอกต้นเหตุ บอกการเกิดขึ้น
บอกแดนเกิด บอกสมุฏฐาน บอกอาหาร บอกอารมณ์ บอกปัจจัย บอกเหตุเกิด
รวมความว่า เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอ
คำว่า ตามที่เรารู้ อธิบายว่า เราจะบอกธรรมที่รู้ด้วยตนเอง ธรรมที่ได้
ประจักษ์แก่ตนเองตามที่เรารู้ คือ ตามที่เราทราบ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ
แทงตลอด มิใช่โดยอาการเชื่อผู้อื่นว่าธรรมนี้เป็นดังนี้ ๆ มิใช่โดยการเล่าลือ มิใช่
โดยการถือสืบ ๆ กันมา มิใช่โดยการอ้างตำรา มิใช่โดยตรรกะ มิใช่โดยการอนุมาน
มิใช่โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล มิใช่เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว รวม
ความว่า เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่เรารู้

ว่าด้วยอุปธิ 10
คำว่า ทุกข์ ... ล้วนเกิดมาจากอุปธิเป็นต้นเหตุ อธิบายว่า
คำว่า อุปธิ ได้แก่ อุปธิ 10 อย่าง คือ

1. อุปธิคือตัณหา 2. อุปธิคือทิฏฐิ
3. อุปธิคือกิเลส 4. อุปธิคือกรรม
5. อุปธิคือทุจริต 6. อุปธิคืออาหาร
7. อุปธิคือปฏิฆะ 8. อุปธิคืออุปาทินนธาตุ 4
9. อุปธิคืออายตนะภายใน 6 10. อุปธิคือหมวดวิญญาณ 6

ทุกข์แม้ทั้งหมด ก็เป็นอุปธิ เพราะมีความหมายว่า ทนได้ยาก เหล่านี้เรียกว่า
อุปธิ 10

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :121 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ทุกข์ ได้แก่ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทว-
ทุกขโทมนัสอุปายาสทุกข์ ฯลฯ พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ตกอยู่ในความทุกข์
ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย เหล่านี้เรียกว่า ทุกข์
ทุกข์เหล่านี้ มีอุปธิเป็นต้นเหตุ คือมีอุปธิเป็นเหตุ มีอุปธิเป็นปัจจัย มีอุปธิเป็นการณ์
ชื่อว่าเกิดมา คือ กำเนิดมา เกิดขึ้น บังเกิดแต่อุปธิเป็นต้นเหตุ รวมความว่า ทุกข์
... ล้วนเกิดมาแต่อุปธิเป็นต้นเหตุ
คำว่า อะไรก็ตาม ในคำว่า หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก อธิบายว่า
ทุกสิ่งโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า
อะไรก็ตาม นี้ เป็นคำกล่าวรวม ๆ ไว้ทั้งหมด
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า หลายรูปแบบ ได้แก่ ทุกข์หลายอย่าง ต่างประการ รวมความว่า
หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่เรารู้
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ล้วนเกิดมาจากอุปธิเป็นต้นเหตุ
[20] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ย่อมก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า
มีชาติเป็นแดนเกิด ไม่ควรก่ออุปธิ (3)
คำว่า ผู้ใด ในคำว่า ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ย่อมก่ออุปธิ ได้แก่ ผู้ใด คือ
ผู้เช่นใด ผู้ขวนขวายอย่างใด ผู้ตั้งใจอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้ถึงฐานะใด
ผู้ประกอบด้วยธรรมใด จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต
เทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :122 }