เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 3. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า เป็นผู้สงบ ปราศจากควัน
ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ข้ามได้ คือ ข้ามไปได้ ข้ามพ้นไปได้ ก้าวล่วงไปได้
ล่วงเลยชาติชรามรณะไปได้ รวมความว่า เรากล่าวว่า ... บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ
ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ
เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก
บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์
ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ ปุณณกมาณพประคองอัญชลี นั่งลงนมัสการ
พระผู้มีพระภาคโดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดา
ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
ปุณณกมาณวปัญหานิทเทสที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :109 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
4. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส1
ว่าด้วยปัญหาของเมตตคูมาณพ
[18] (ท่านเมตตคูทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า ทรงเป็นผู้จบเวท
ทรงอบรมพระองค์แล้ว ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากที่ไหนหนอ (1)

ว่าด้วยการถาม 3
คำว่า ขอทูลถาม ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถาม
ปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ได้แก่
การถาม 3 อย่าง คือ
1. การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น
2. การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
3. การถามเพื่อตัดความสงสัย
การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติลักษณะใด ตนยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังมิได้เทียบเคียง ยังมิได้
พิจารณา ยังมิได้ทำให้กระจ่าง ยังมิได้ทำให้แจ่มแจ้ง ก็ถามปัญหาเพื่อรู้ เพื่อเห็น
เพื่อเทียบเคียง เพื่อพิจารณา เพื่อทำให้ลักษณะนั้นแจ่มแจ้ง นี้ชื่อว่าการถามเพื่อ
ทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น
การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว เป็นอย่างไร

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/1056-1067/534-537

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :110 }