เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 3. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก อธิบายว่า ญาณ ตรัสเรียกว่า
สังขา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม
สัมมาทิฏฐิ1

ว่าด้วยฝั่งนี้และฝั่งโน้น
คำว่า ฝั่งนี้และฝั่งโน้น อธิบายว่า
อัตภาพของตน ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้
อัตภาพของผู้อื่น ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณของตน ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้
รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณของผู้อื่น ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
อายตนะภายใน 6 ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ อายตนะภายนอก 6 ตรัสเรียกว่า
ฝั่งโน้น
มนุษยโลก ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ เทวโลก ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
กามธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ รูปธาตุ อรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
กามธาตุ รูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ อรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
คำว่า เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก อธิบายว่า เพราะทราบชัด คือ
เพราะรู้ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ฯลฯ เป็นโรค ฯลฯ เป็นดุจหัวฝี ฯลฯ
เป็นดุจลูกศร ฯลฯ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป รวมความว่า เพราะทราบชัดฝั่งนี้
และฝั่งโน้นในโลก
คำว่า ปุณณกะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ เป็นคำ
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 5/58

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :104 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 3. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ ฯลฯ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ
คำว่า บุคคลใด ในคำว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ ได้แก่
พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ความหวั่นไหว ได้แก่ ความหวั่นไหวเพราะตัณหา ความหวั่นไหว
เพราะทิฏฐิ ความหวั่นไหวเพราะมานะ ความหวั่นไหวเพราะกิเลส ความหวั่นไหว
เพราะกาม ความหวั่นไหวเหล่านี้ ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หามิได้แก่บุคคลใด
ได้แก่ ท่านละได้แล้ว ตัดขาดแล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก
เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
คำว่า ไหน ๆ ได้แก่ ไหน ๆ คือ ที่ไหน ๆ ไร ๆ ภายใน ภายนอก
หรือทั้งภายในและภายนอก
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก1 รวมความว่า บุคคลใด
ไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ

ว่าด้วยผู้สงบ ปราศจากควัน
คำว่า เป็นผู้สงบ ในคำว่า เรากล่าวว่า... บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจาก
ควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว อธิบายว่า
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบราคะ
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโทสะ
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโมหะ
คือ เป็นผู้สงบแล้ว เข้าไปสงบแล้ว สงบเย็นแล้ว ดับแล้ว ระงับแล้ว
เพราะสงบ ระงับ สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับโกธะ ... อุปนาหะ ...
มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ... ถัมภะ ...
สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ... กิเลสทุกชนิด ...

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 1/43

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :105 }