เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 3. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระ-
องค์ด้วยเถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น คือ ทูลขอปัญหานั้น
ทูลอัญเชิญปัญหานั้น ทูลให้ทรงประกาศปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ปัญหานั้นด้วยเถิด รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ1
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด อธิบายว่า ขอพระองค์
โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศด้วยเถิด รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์
นั้นจึงทูลถามว่า
(ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ถ้าชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ
ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามชาติและชราได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[17] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ
เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก
บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์
ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว (6)

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 2/46-48

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :103 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 3. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก อธิบายว่า ญาณ ตรัสเรียกว่า
สังขา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม
สัมมาทิฏฐิ1

ว่าด้วยฝั่งนี้และฝั่งโน้น
คำว่า ฝั่งนี้และฝั่งโน้น อธิบายว่า
อัตภาพของตน ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้
อัตภาพของผู้อื่น ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณของตน ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้
รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณของผู้อื่น ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
อายตนะภายใน 6 ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ อายตนะภายนอก 6 ตรัสเรียกว่า
ฝั่งโน้น
มนุษยโลก ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ เทวโลก ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
กามธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ รูปธาตุ อรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
กามธาตุ รูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ อรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
คำว่า เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก อธิบายว่า เพราะทราบชัด คือ
เพราะรู้ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ฯลฯ เป็นโรค ฯลฯ เป็นดุจหัวฝี ฯลฯ
เป็นดุจลูกศร ฯลฯ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป รวมความว่า เพราะทราบชัดฝั่งนี้
และฝั่งโน้นในโลก
คำว่า ปุณณกะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ เป็นคำ
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 5/58

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :104 }