เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 3. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามชาติและชราได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (5)
คำว่า ถ้าชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ ข้าม ... ไปไม่ได้ อธิบาย
ว่า ชนเหล่านั้นผู้บูชายัญ ผู้ประกอบการบูชายัญ เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพข้ามไม่ได้
คือ ข้ามไปไม่ได้ ข้ามพ้นไม่ได้ ก้าวล่วงไม่ได้ ล่วงเลยชาติชราและมรณะไปไม่ได้
ได้แก่ ไม่ออก ไม่สลัดออก ก้าวไม่พ้น ไม่ก้าวล่วง ไม่ล่วงเลยจากชาติชราและมรณะ
คือ หมุนวนอยู่ภายในชาติชราและมรณะ ภายในหนทางแห่งสงสาร คือ ไปตามชาติ
ชราติดตาม พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง
ไม่มีที่อาศัย รวมความว่า ถ้าชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ ข้าม... ไปไม่ได้
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ ท่านปุณณกะ
คำว่า ด้วยยัญทั้งหลาย ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ... ข้ามชาติ
และชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย ได้แก่ ด้วยยัญเป็นอันมาก ด้วยยัญชนิดต่าง ๆ
ด้วยยัญมากมาย
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดย
ความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและ
ความยำเกรง รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ... ข้ามชาติและชราไปไม่ได้
ด้วยยัญทั้งหลาย
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและ
มนุษยโลก ข้ามชาติและชราได้ อธิบายว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในโลก พร้อม
ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ข้ามได้ คือ
ข้ามไปได้ ข้ามพ้นไปได้ ก้าวล่วงไปได้ ล่วงเลยชาติชราและมรณะไปได้
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดย
ความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและ
ความยำเกรง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :102 }