เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 3. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า กำหนด ได้แก่ การกำหนด 2 อย่าง คือ (1) การกำหนดด้วยอำนาจ
ตัณหา (2) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ...
นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ1
คำว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ อันปัจจัยปรุงแต่ง คือ ปรุงแต่งขึ้น ปรุงแต่ง
เฉพาะ ตั้งไว้ดีแล้ว รวมความว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง
อีกนัยหนึ่ง ธรรมทั้งหลาย ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น
มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา
มีความดับไปเป็นธรรมดา รวมความว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง
คำว่า เจ้าลัทธิใด ได้แก่ เจ้าลัทธิผู้เป็นเจ้าของทิฏฐิ ทิฏฐิ 62 ตรัสเรียกว่า
ธรรม รวมความว่า เจ้าลัทธิใด มีธรรมที่กำหนดไว้ อันปัจจัยปรุงแต่ง

ว่าด้วยการเชิดชู 2 อย่าง
คำว่า เชิดชูไว้ ในคำว่า มี ... เชิดชูไว้ (แต่) ไม่ขาวสะอาด ได้แก่ การเชิดชู
2 อย่าง คือ (1) การเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา (2) การเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่า
การเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าการเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ
เจ้าลัทธินั้นยังไม่ละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ยังไม่สลัดทิ้งการเชิดชูด้วย
อำนาจทิฏฐิ เพราะเป็นผู้ยังไม่สลัดทิ้งการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ยังไม่สลัดทิ้งการ
เชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ เจ้าลัทธินั้นเที่ยวเชิดชูตัณหาหรือทิฏฐิไว้ คือ มีตัณหาเป็น
ธงชัย มีตัณหาเป็นยอดธง มีตัณหาเป็นใหญ่ มีทิฏฐิเป็นธงชัย มีทิฏฐิเป็นยอดธง
มีทิฏฐิเป็นใหญ่ คือ ถูกตัณหาหรือทิฏฐิครอบงำเที่ยวไป รวมความว่า เชิดชูไว้
คำว่า มี ได้แก่ มี คือ ปรากฏ หาได้
คำว่า ไม่ขาวสะอาด ได้แก่ ไม่ขาวสะอาด คือ ไม่ขาว ไม่บริสุทธิ์ เศร้าหมอง
แปดเปื้อน รวมความว่า มี ... เชิดชูไว้(แต่)ไม่ขาวสะอาด

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบความในข้อ 12/58-59

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :87 }