เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 3. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
สมบูรณ์ด้วยปฏิภาณบ้าง สมบูรณ์ด้วยสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง ออกบวชจาก
ตระกูลสูงบ้าง ออกบวชจากตระกูลใหญ่บ้าง ออกบวชจากตระกูลมีทรัพย์มากบ้าง
ออกบวชจากตระกูลมีโภคะมากบ้าง เป็นผู้มีชื่อเสียงมียศกว่าคฤหัสถ์และบรรพชิต
ทั้งหลายบ้าง เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารบ้าง
เป็นผู้ทรงจำพระสูตรบ้าง เป็นผู้ทรงจำพระวินัยบ้าง เป็นพระธรรมกถึกบ้าง เป็นผู้
อยู่ป่าเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
บ้าง เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร
บ้าง เป็นผู้งดอาหารมื้อหลังเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการ
อยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ได้ปฐมฌานบ้าง เป็นผู้ได้ทุติยฌาน
บ้าง เป็นผู้ได้ตติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้จตุตถฌานบ้าง เป็นผู้ได้อากาสานัญจายตน-
สมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้อากิญจัญญายตน-
สมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติบ้าง รวมความว่า สัตว์เกิดใด
กล่าวถึงตัวเองเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สัตว์เกิดใดไม่มีใครถาม
ก็บอกศีลวัตรของตนแก่บุคคลเหล่าอื่น
สัตว์เกิดใดกล่าวถึงตัวเองเท่านั้น
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า ผู้ไม่มีอริยธรรม
[18] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว
ไม่โอ้อวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็นดังนี้
อนึ่ง ภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟูในที่ไหน ๆ ในโลก
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้มีอริยธรรม

ว่าด้วยผู้ได้ชื่อว่าภิกษุ
คำว่า ผู้สงบ ในคำว่า ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว อธิบายว่า ชื่อว่าผู้สงบ
เพราะสงบราคะ ชื่อว่าผู้สงบ เพราะสงบโทสะ ชื่อว่าผู้สงบ เพราะสงบโมหะ คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :83 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 3. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ชื่อว่าผู้สงบ สงบเย็น ดับ ระงับได้แล้ว เพราะสงบ ระงับ สงบเย็น เผา ดับ
ปราศจาก สงบระงับโกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ...
มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ...
กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อน
ทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท รวมความว่า
ผู้สงบ
คำว่า ภิกษุ อธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะทำลายธรรม 7 ประการได้แล้ว คือ
1. ทำลายสักกายทิฏฐิ(ความเห็นว่าเป็นตัวของตน)ได้แล้ว
2. ทำลายวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย)ได้แล้ว
3. ทำลายสีลัพพตปรามาส(ความยึดมั่นในศีลพรต)ได้แล้ว
4. ทำลายราคะ(ความกำหนัด)ได้แล้ว
5. ทำลายโทสะ(ความคิดประทุษร้าย)ได้แล้ว
6. ทำลายโมหะ(ความลุ่มหลง)ได้แล้ว
7. ทำลายมานะ(ความถือตัว)ได้แล้ว
ภิกษุนั้นทำลายบาปอกุศลธรรม ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะ ต่อไปได้แล้ว
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ)
ผู้ใดควรแก่คำชมเชยว่า เป็นผู้ถึงนิพพานด้วยทางที่ตนทำแล้ว
ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ละความเสื่อมและความเจริญแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์ สิ้นภพใหม่แล้ว ผู้นั้นชื่อว่า ภิกษุ1
คำว่า ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว อธิบายว่า
ชื่อว่าดับกิเลสแล้ว เพราะทำให้ราคะดับแล้ว
ชื่อว่าดับกิเลสแล้ว เพราะทำให้โทสะดับแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/520/435

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :84 }