เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 3. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ชื่อว่าศีล การสมาทาน ชื่อว่าวัตร ชื่อว่าศีลเพราะมีความหมายว่า สังวร ชื่อว่าวัตร
เพราะมีความหมายว่าสมาทาน นี้ตรัสเรียกว่าศีลและวัตร
วัตร ไม่ใช่ศีล เป็นอย่างไร
คือ ธุดงค์ 8 ข้อ ได้แก่
1. อารัญญิกังคธุดงค์(สมาทานการอยู่ป่าเป็นวัตร)
2. ปิณฑปาติกังคธุดงค์(สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร)
3. ปังสุกูลิกังคธุดงค์(สมาทานการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร)
4. เตจีวริกังคธุดงค์(สมาทานการทรงไตรจีวรเป็นวัตร)
5. สปทานจาริกังคธุดงค์(สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็น
วัตร)
6. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์(สมาทานการงดฉันอาหารมื้อหลังเป็นวัตร)
7. เนสัชชิกังคธุดงค์(สมาทานการนั่งเป็นวัตร)
8. ยถาสันถติกังคธุดงค์(สมาทานการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร)
นี้เรียกว่าวัตร ไม่ใช่ศีล แม้การสมาทานความเพียรก็เรียกว่า วัตร ไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า เนื้อและเลือดในร่างกายจงเหือดแห้งไป จะเหลือ
อยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามทีเถิด ผลใดพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ
ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ (ถ้า)ไม่
บรรลุผลนั้นแล้วก็จักไม่หยุดความเพียร แม้การสมาทานความเพียรอย่างนี้ก็เรียกว่า
วัตร ไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า
เมื่อเรายังถอนลูกศรคือตัณหาขึ้นไม่ได้
เราจะไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ออกไปจากวิหาร
ทั้งจะไม่เอนกายนอน1
การสมาทานความเพียรอย่างนี้ก็เรียกว่า วัตร ไม่ใช่ศีล

เชิงอรรถ :
1 ขุ.เถร.(แปล) 26/223/374

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :79 }