เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 3. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
หมู่คณะ(สงฆ์)นี้ปฏิบัติดีแล้ว ทิฏฐินี้เป็นสิ่งที่เจริญ ปฏิปทานี้ทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว มรรค
นี้เป็นทางนำออกจากทุกข์ รวมความว่า เมื่อทำตนให้เพียบพร้อม
คำว่า รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น อธิบายว่า รู้อย่างไรก็พึงพูด คือ กล่าว
บอก แสดง ชี้แจงอย่างนั้นว่า "โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ ... โลกไม่
เที่ยง" ... รู้อย่างไรก็พึงพูด คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจงอย่างนั้นว่า "หลังจากตาย
แล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
เป็นโมฆะ" รวมความว่า รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
ผู้ไปตามความพอใจ ตั้งอยู่ในความชอบใจ
พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า
แต่เมื่อทำตนให้เพียบพร้อม รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น
[17] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สัตว์เกิดใดไม่มีใครถาม
ก็บอกศีลวัตรของตนแก่บุคคลเหล่าอื่น
สัตว์เกิดใดกล่าวถึงตัวเองเท่านั้น
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกสัตว์เกิดนั้นว่า ผู้ไม่มีอริยธรรม
คำว่า ใด ในคำว่า สัตว์เกิดใด ... ศีลวัตรของตน ได้แก่ ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด
ผู้ขวนขวายอย่างใด ผู้ตั้งใจอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้ถึงฐานะใด ผู้ประกอบด้วย
ธรรมใด จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือ
มนุษย์ก็ตาม
ว่าด้วยศีลและวัตร
คำว่า ศีลวัตร ได้แก่ ศีลและวัตรก็มี วัตรไม่ใช่ศีลก็มี
ศีลและวัตร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์
เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย ความสำรวม ความสังวร การไม่ล่วงละเมิดในสิกขาบทเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :78 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 3. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ชื่อว่าศีล การสมาทาน ชื่อว่าวัตร ชื่อว่าศีลเพราะมีความหมายว่า สังวร ชื่อว่าวัตร
เพราะมีความหมายว่าสมาทาน นี้ตรัสเรียกว่าศีลและวัตร
วัตร ไม่ใช่ศีล เป็นอย่างไร
คือ ธุดงค์ 8 ข้อ ได้แก่
1. อารัญญิกังคธุดงค์(สมาทานการอยู่ป่าเป็นวัตร)
2. ปิณฑปาติกังคธุดงค์(สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร)
3. ปังสุกูลิกังคธุดงค์(สมาทานการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร)
4. เตจีวริกังคธุดงค์(สมาทานการทรงไตรจีวรเป็นวัตร)
5. สปทานจาริกังคธุดงค์(สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็น
วัตร)
6. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์(สมาทานการงดฉันอาหารมื้อหลังเป็นวัตร)
7. เนสัชชิกังคธุดงค์(สมาทานการนั่งเป็นวัตร)
8. ยถาสันถติกังคธุดงค์(สมาทานการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร)
นี้เรียกว่าวัตร ไม่ใช่ศีล แม้การสมาทานความเพียรก็เรียกว่า วัตร ไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า เนื้อและเลือดในร่างกายจงเหือดแห้งไป จะเหลือ
อยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามทีเถิด ผลใดพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ
ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ (ถ้า)ไม่
บรรลุผลนั้นแล้วก็จักไม่หยุดความเพียร แม้การสมาทานความเพียรอย่างนี้ก็เรียกว่า
วัตร ไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า
เมื่อเรายังถอนลูกศรคือตัณหาขึ้นไม่ได้
เราจะไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ออกไปจากวิหาร
ทั้งจะไม่เอนกายนอน1
การสมาทานความเพียรอย่างนี้ก็เรียกว่า วัตร ไม่ใช่ศีล

เชิงอรรถ :
1 ขุ.เถร.(แปล) 26/223/374

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :79 }