เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 3. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า มุนี ในคำว่า มุนีไม่ใส่ใจ อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ คือ
ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ... ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
ผู้ที่ประกอบด้วยญาณนั้น ชื่อว่ามุนี คือ ผู้บรรลุโมนญาณ ... ก้าวล่วงกิเลสเครื่อง
ข้องและตัณหาดุจตาข่ายแล้ว ผู้นั้นชื่อว่ามุนี1 ผู้ใดใส่ใจคำกล่าวร้าย ผู้นั้นก็ใส่ใจคำ
กล่าวร้าย ด้วยเหตุ 2 อย่าง คือ
1. ผู้กล่าวร้าย ย่อมใส่ใจคำกล่าวร้าย เพราะตนเองเป็นผู้กล่าวร้าย
2. ผู้ถูกเขากล่าวร้าย ถูกเขากล่าวติเตียน ย่อมโกรธ พยาบาท ตอบโต้
ทำความโกรธ ความเคือง ความชิงชังให้ปรากฏว่า เราไม่ใช่ผู้พูด ผู้ใด
ใส่ใจคำกล่าวร้าย ผู้นั้นก็ย่อมใส่ใจคำกล่าวร้าย ด้วยเหตุ 2 อย่างเหล่านี้
มุนีไม่ใส่ใจคำกล่าวร้าย ด้วยเหตุ 2 อย่าง คือ
1. มุนีผู้ไม่กล่าวร้าย ย่อมไม่ใส่ใจคำกล่าวร้าย เพราะตนเองมิใช่เป็นผู้กล่าว
ร้าย
2. มุนีผู้ถูกเขากล่าวร้าย ถูกเขาติเตียน ก็ย่อมไม่โกรธ ไม่พยาบาท
ไม่ตอบโต้ ไม่ทำความโกรธ ความเคือง ความชิงชังให้ปรากฏว่า เราไม่
ใช่ผู้พูด มุนีไม่ใส่ใจ คือ ไม่สนใจ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นคำกล่าวร้าย
ด้วยเหตุ 2 อย่างเหล่านี้
รวมความว่า แต่มุนีไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น

ว่าด้วยกิเลสเครื่องตรึงจิต 3 ประการ
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิตใน
ที่ไหน ๆ ได้แก่ เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น
เพราะต้นเหตุนั้น ภาวะที่มีจิตถูกโทสะกระทบก็ดี มีกิเลสเครื่องตรึงจิตเกิดขึ้นก็ดี
ไม่มีแก่มุนี กิเลสเครื่องตรึงจิต 5 อย่างก็ดี กิเลสเครื่องตรึงจิต 3 อย่าง คือ (1) ราคะ
(2) โทสะ (3) โมหะ ก็ดี จึงไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ คือ กิเลสเครื่อง
ตรึงจิตนั้น มุนีละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้น
ไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว

เชิงอรรถ :
1 มุนี ดูรายละเอียดข้อ 14/68-70

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :75 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 3. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ในที่ไหน ๆ ได้แก่ ในที่ไหน คือ ที่ไหน ๆ ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก
หรือทั้งภายในและภายนอก รวมความว่า เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิต
ในที่ไหน ๆ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีภาคจึงตรัสว่า
เดียรถีย์บางจำพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย
บุคคลเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริง ก็กล่าวร้ายด้วย
แต่มุนีไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิตในที่ไหน ๆ
[16] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ผู้ไปตามความพอใจ ตั้งอยู่ในความชอบใจ
พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า
แต่เมื่อทำตนให้เพียบพร้อม รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น

ว่าด้วยทิฏฐิ
คำว่า พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า อธิบายว่า เดียรถีย์ มีทิฏฐิ
อย่างนี้ มีความพอใจ มีความชอบใจ มีลัทธิ มีอัธยาศัย มีความประสงค์อย่างนี้ว่า
"พวกเราฆ่านางสุนทรีปริพาชิกาแล้ว ประกาศโทษพวกสมณศากยบุตร ก็จักเอา
ลาภ ยศ สักการะและสัมมานะกลับคืนมาได้ด้วยวิธีการอย่างนี้" พวกเดียรถีย์
เหล่านั้นไม่สามารถก้าวล่วงทิฏฐิ ความถูกใจ ความพอใจ ลัทธิ อัธยาศัย ความ
ประสงค์ของตนได้ โดยที่แท้ความเสื่อมยศนั้นนั่นแหละก็กลับย้อนมาถึงเดียรถีย์
เหล่านั้น รวมความว่า พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ผู้ที่มีวาทะอย่างนี้ว่า "โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ"
พึงล่วง ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นทิฏฐิ ความถูกใจ ความพอใจ ลัทธิ อัธยาศัย
ความประสงค์ของตนได้อย่างไร ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะเขาสมาทาน ถือ ยึดมั่น
ถือมั่น ติดใจ น้อมใจเชื่อทิฏฐินั้น ให้เพียบพร้อมอย่างนั้น รวมความว่า พึงก้าวล่วง
ทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า อย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :76 }