เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 3. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
3. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส1
อธิบายทุฏฐัฏฐกสูตร
ว่าด้วยเดียรถีย์ประทุษร้ายมุนี
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายทุฏฐัฏฐกสูตร ดังต่อไปนี้
[15] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย
บุคคลเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริง ก็กล่าวร้ายด้วย
แต่มุนีไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิตในที่ไหนๆ
คำว่า เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย อธิบายว่า เดียรถีย์เหล่านั้น
มีใจชั่ว คือมีใจร้าย มีใจเห็นผิด มีใจหลงผิด มีใจขุ่น มีใจขุ่นเคือง มีใจอาฆาต
มีใจอาฆาตแค้น กล่าวร้าย คือ กล่าวติเตียนพระผู้มีพระภาค และภิกษุสงฆ์ด้วย
เรื่องไม่จริง รวมความว่า เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย
คำว่า บุคคลเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริง ก็กล่าวร้ายด้วย อธิบายว่า พวกคนที่
เชื่อถือเดียรถีย์เหล่านั้น กำหนด น้อมใจเชื่อ เข้าใจว่าจริง สำคัญว่าจริง เข้าใจว่า
เป็นจริง สำคัญว่าเป็นจริง เข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น สำคัญว่าเป็นเช่นนั้น เข้าใจว่า
จริงแท้ สำคัญว่าจริงแท้ เข้าใจว่าไม่ผิด สำคัญว่าไม่ผิด จึงกล่าวร้าย คือ กล่าว
ติเตียนพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ด้วยเรื่องไม่จริง รวมความว่า บุคคลเหล่าอื่น
เข้าใจว่าจริง ก็กล่าวร้ายด้วย
คำว่า แต่มุนีไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น อธิบายว่า คำกล่าวร้ายนั้น
เกิดแล้ว คือ เกิดขึ้นแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดขึ้นแล้ว ปรากฏแล้ว ได้แก่ เสียง
ประกาศจากบุคคลอื่น คำด่า คำติเตียนพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ด้วยเรื่อง
ไม่จริง รวมความว่า คำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/787-794/488-490

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :74 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 3. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า มุนี ในคำว่า มุนีไม่ใส่ใจ อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ คือ
ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ... ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
ผู้ที่ประกอบด้วยญาณนั้น ชื่อว่ามุนี คือ ผู้บรรลุโมนญาณ ... ก้าวล่วงกิเลสเครื่อง
ข้องและตัณหาดุจตาข่ายแล้ว ผู้นั้นชื่อว่ามุนี1 ผู้ใดใส่ใจคำกล่าวร้าย ผู้นั้นก็ใส่ใจคำ
กล่าวร้าย ด้วยเหตุ 2 อย่าง คือ
1. ผู้กล่าวร้าย ย่อมใส่ใจคำกล่าวร้าย เพราะตนเองเป็นผู้กล่าวร้าย
2. ผู้ถูกเขากล่าวร้าย ถูกเขากล่าวติเตียน ย่อมโกรธ พยาบาท ตอบโต้
ทำความโกรธ ความเคือง ความชิงชังให้ปรากฏว่า เราไม่ใช่ผู้พูด ผู้ใด
ใส่ใจคำกล่าวร้าย ผู้นั้นก็ย่อมใส่ใจคำกล่าวร้าย ด้วยเหตุ 2 อย่างเหล่านี้
มุนีไม่ใส่ใจคำกล่าวร้าย ด้วยเหตุ 2 อย่าง คือ
1. มุนีผู้ไม่กล่าวร้าย ย่อมไม่ใส่ใจคำกล่าวร้าย เพราะตนเองมิใช่เป็นผู้กล่าว
ร้าย
2. มุนีผู้ถูกเขากล่าวร้าย ถูกเขาติเตียน ก็ย่อมไม่โกรธ ไม่พยาบาท
ไม่ตอบโต้ ไม่ทำความโกรธ ความเคือง ความชิงชังให้ปรากฏว่า เราไม่
ใช่ผู้พูด มุนีไม่ใส่ใจ คือ ไม่สนใจ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นคำกล่าวร้าย
ด้วยเหตุ 2 อย่างเหล่านี้
รวมความว่า แต่มุนีไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น

ว่าด้วยกิเลสเครื่องตรึงจิต 3 ประการ
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิตใน
ที่ไหน ๆ ได้แก่ เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น
เพราะต้นเหตุนั้น ภาวะที่มีจิตถูกโทสะกระทบก็ดี มีกิเลสเครื่องตรึงจิตเกิดขึ้นก็ดี
ไม่มีแก่มุนี กิเลสเครื่องตรึงจิต 5 อย่างก็ดี กิเลสเครื่องตรึงจิต 3 อย่าง คือ (1) ราคะ
(2) โทสะ (3) โมหะ ก็ดี จึงไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ คือ กิเลสเครื่อง
ตรึงจิตนั้น มุนีละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้น
ไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว

เชิงอรรถ :
1 มุนี ดูรายละเอียดข้อ 14/68-70

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :75 }