เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 1. กามสุตตนิทเทส
[3] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ผู้ใดละกามได้ เหมือนคนเดินเลี่ยงหัวงู
ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลก

ว่าด้วยการละกามโดยเหตุ 2 อย่าง
คำว่า ผู้ใด ในคำว่า ผู้ใดละกามได้ ได้แก่ ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ผู้ขวนขวาย
อย่างใด ผู้ตั้งใจอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้ถึงฐานะใด ผู้ประกอบด้วยธรรมใด
จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม
คำว่า ละกามได้ อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้เเก่ กาม 2 อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (1) วัตถุกาม
(2) กิเลสกาม ... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม1
คำว่า ละกามได้ ได้แก่ ละกามได้โดยเหตุ 2 อย่าง คือ (1) โดยการข่มไว้
(2) โดยการตัดขาด
บุคคลละกามได้โดยการข่มไว้ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลเมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนร่างโครงกระดูก
เพราะให้ความยินดีเล็กน้อย จึงละกามได้โดยการข่มไว้
เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ เพราะเป็นของทั่วไป
แก่คนส่วนมาก จึงละกามได้โดยการข่มไว้
เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า เพราะไหม้
ลุกลาม จึงละกามได้โดยการข่มไว้
เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง เพราะมีความ
ร้อนมาก จึงละกามได้โดยการข่มไว้
เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนความฝัน เพราะปรากฏชั่ว
เวลาอันสั้น จึงละกามได้โดยการข่มไว้

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 1/1-2

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :7 }