เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ไม่เข้าไปติดแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว มีใจเป็น
อิสระ(จากความติด)อยู่ รวมความว่า นักปราชญ์ ... ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็นและ
ได้ยินแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
นักปราชญ์ พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง 2 ด้าน
กำหนดรู้ผัสสะแล้ว ก็ไม่ติดใจ
ติเตียนกรรมใดด้วยตน ก็ไม่ทำกรรมนั้น
ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินแล้ว
[14] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีกำหนดรู้สัญญาแล้ว ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย
พึงข้ามโอฆะได้ ถอนลูกศรได้แล้ว ไม่ประมาท
ประพฤติอยู่ ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า
คำว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว ... พึงข้ามโอฆะได้ อธิบายว่า
คำว่า สัญญา ได้แก่ กามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา เนกขัมม-
สัญญา อัพยาบาทสัญญา อวิหิงสาสัญญา รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา
รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา ความจำได้ กิริยาที่จำได้ ภาวะที่จำได้
เห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่าสัญญา
คำว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว ได้แก่ กำหนดรู้สัญญา ด้วยปริญญา 3 อย่าง
คือ (1) ญาตปริญญา (2) ตีรณปริญญา (3) ปหานปริญญา
ญาตปริญญา เป็นอย่างไร
คือ มุนีรู้จักสัญญา คือรู้ เห็นว่า "นี้กามสัญญา นี้พยาบาทสัญญา นี้วิหิงสา-
สัญญา นี้เนกขัมมสัญญา นี้อัพยาบาทสัญญา นี้อวิหิงสาสัญญา นี้รูปสัญญา
นี้สัททสัญญา นี้คันธสัญญา นี้รสสัญญา นี้โผฏฐัพพสัญญา นี้ธัมมสัญญา"
นี้ชื่อว่าญาตปริญญา
ตีรณปริญญา เป็นอย่างไร
คือ มุนีทำสิ่งที่รู้แล้วให้ปรากฏอย่างนี้แล้ว พิจารณาสัญญา คือ พิจารณาโดย
ความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นของลำบาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :67 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นเสนียด เป็นอุปัททวะ เป็นภัย
เป็นอุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของผุพัง ... เป็นเหตุเกิดทุกข์ ตั้งอยู่ไม่ได้ หาความ
แช่มชื่นไม่ได้ เป็นโทษ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป นี้ชื่อว่าตีรณปริญญา
ปหานปริญญา เป็นอย่างไร
คือ มุนีครั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้ ก็ย่อมละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีก ซึ่งความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในสัญญา สมจริงดังที่พระ
ผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความพอใจในสัญญา สัญญานั้น เธอทั้งหลายละได้เด็ดขาดแล้วอย่างนี้ ตัดราก
ถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ นี้ชื่อว่าปหานปริญญา
คำว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว ได้แก่ กำหนดรู้สัญญาด้วยปริญญา 3 อย่าง
เหล่านี้แล้ว
คำว่า พึงข้ามโอฆะได้ อธิบายว่า พึงข้าม คือ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง
ล่วงเลย กาโมฆะ(ห้วงน้ำคือกาม) ภโวฆะ(ห้วงน้ำคือภพ) ทิฏโฐฆะ(ห้วงน้ำคือทิฏฐิ)
อวิชโชฆะ(ห้วงน้ำคืออวิชชา) รวมความว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว ... พึงข้ามโอฆะได้
คำว่า มุนี ... ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย อธิบายว่า
คำว่า ความยึดถือ ได้แก่ ความยึดถือ 2 อย่าง คือ (1) ความยึดถือด้วย
อำนาจตัณหา (2) ความยึดถือด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยอำนาจ
ตัณหา ... นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยอำนาจทิฏฐิ1
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ...
ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ผู้ที่ประกอบด้วยญาณนั้น
ชื่อว่า มุนี คือ ผู้บรรลุโมนญาณแล้ว โมเนยยธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นมุนี) 3 ประการ
คือ (1) โมเนยยธรรมทางกาย (2) โมเนยยธรรมทางวาจา (3) โมเนยยธรรมทางใจ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบกับความในข้อ 12/58

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :68 }