เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยผัสสะต่าง ๆ
คำว่า กำหนดรู้ผัสสะแล้ว ก็ไม่ติดใจ อธิบายว่า
คำว่า ผัสสะ1 ได้แก่ จักขุสัมผัส(สัมผัสทางตา) โสตสัมผัส(สัมผัสทางหู)
ฆานสัมผัส(สัมผัสทางจมูก) ชิวหาสัมผัส(สัมผัสทางลิ้น) กายสัมผัส(สัมผัสทางกาย)
มโนสัมผัส(สัมผัสทางใจ) อธิวจนสัมผัส(สัมผัสที่เกิดทางมโนทวาร) ปฏิฆสัมผัส
(สัมผัสแห่งการกระทบใจ) สุขเวทนียผัสสะ(ผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา) ทุกข-
เวทนียผัสสะ(ผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา) อทุกขมสุขเวทนียผัสสะ(ผัสสะเป็นที่ตั้ง
แห่งอทุกขมสุขเวทนา) ผัสสะที่เป็นกุศล ผัสสะที่เป็นอกุศล ผัสสะที่เป็นอัพยากฤต
ผัสสะที่เป็นกามาวจร ผัสสะที่เป็นรูปาวจร ผัสสะที่เป็นอรูปาวจร สุญญตผัสสะ
อนิมิตตผัสสะ อัปปณิหิตผัสสะ ผัสสะที่เป็นโลกิยะ ผัสสะที่เป็นโลกุตตระ ผัสสะที่
เป็นอดีต ผัสสะที่เป็นอนาคต ผัสสะที่เป็นปัจจุบัน ผัสสะ ความถูกต้อง กิริยาที่
ถูกต้อง ภาวะที่ถูกต้องเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ผัสสะ

ว่าด้วยปริญญา 3
คำว่า กำหนดรู้ผัสสะแล้ว อธิบายว่า กำหนดรู้ผัสสะด้วยปริญญา 3 คือ
(1) ญาตปริญญา(การกำหนดรู้ขั้นรู้จัก) (2) ตีรณปริญญา(การกำหนดรู้ขั้นพิจารณา)
(3) ปหานปริญญา(การกำหนดรู้ขั้นละ)
ญาตปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์รู้จักผัสสะ คือ รู้ เห็นว่า "นี้จักขุสัมผัส นี้โสตสัมผัส นี้ฆานสัมผัส
นี้ชิวหาสัมผัส นี้กายสัมผัส นี้มโนสัมผัส นี้อธิวจนสัมผัส นี้ปฏิฆสัมผัส นี้ผัสสะเป็น
ที่ตั้งแห่งสุขเวทนา นี้ผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา นี้ผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุข-
เวทนา นี้ผัสสะที่เป็นกุศล นี้ผัสสะที่เป็นอกุศล นี้ผัสสะที่เป็นอัพยากฤต นี้ผัสสะที่

เชิงอรรถ :
1 ผัสสะ หมายถึงความสัมผัสอารมณ์ที่มากระทบ เช่น ตากระทบกับรูป หรือตาเห็นรูป เรียกว่า จักขุสัมผัส
เป็นต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :63 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
เป็นกามาวจร นี้ผัสสะที่เป็นรูปาวจร นี้ผัสสะที่เป็นอรูปาวจร นี้สุญญตผัสสะ
นี้อนิมิตตผัสสะ นี้อัปปณิหิตผัสสะ นี้ผัสสะที่เป็นโลกิยะ นี้ผัสสะที่เป็นโลกุตตระ
นี้ผัสสะที่เป็นอดีต นี้ผัสสะที่เป็นอนาคต นี้ผัสสะที่เป็นปัจจุบัน" นี้ชื่อว่าญาตปริญญา
ตีรณปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์ทำสิ่งที่รู้แล้วให้ปรากฏอย่างนี้แล้ว พิจารณาผัสสะ คือ
พิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร
เป็นของลำบาก เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น(บังคับไม่ได้) เป็นของทรุดโทรม เป็นเสนียด
เป็นอุปัททวะ เป็นภัย เป็นอุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของผุพัง เป็นของไม่ยั่งยืน
เป็นของไม่มีที่ต้านทาน เป็นของไม่มีที่ซ่อนเร้น เป็นของไม่มีที่พึ่ง เป็นของว่าง
เป็นของเปล่า เป็นของสูญ เป็นอนัตตา เป็นของมีโทษ เป็นของแปรผันไปเป็น
ธรรมดา เป็นของไม่มีแก่นสาร เป็นเหตุแห่งความลำบาก เป็นดุจเพชฌฆาต เป็น
ของปราศจากความเจริญ เป็นของมีอาสวะ เป็นของที่ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็น
เหยื่อแห่งมาร มีชาติ(ความเกิด)เป็นธรรมดา มีชรา(ความแก่)เป็นธรรมดา
มีพยาธิ(ความเจ็บป่วย)เป็นธรรมดา มีมรณะเป็นธรรมดา มีโสกะ(ความเศร้าโศก)
ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกขะ(ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) อุปายาส
(ความคับแค้นใจ)เป็นธรรมดา มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา เป็นเหตุเกิดทุกข์
ตั้งอยู่ไม่ได้ หาความแช่มชื่นไม่ได้ เป็นโทษ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป นี้ชื่อว่า
ตีรณปริญญา
ปหานปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์ครั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในผัสสะ สมจริงดังที่พระ
ผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความพอใจในผัสสะทั้งหลายเสีย ผัสสะนั้น เธอทั้งหลายละได้เด็ดขาดแล้วอย่างนี้
ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้
ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้" นี้ชื่อว่าปหานปริญญา
คำว่า กำหนดรู้ผัสสะแล้ว ได้แก่ กำหนดรู้ผัสสะด้วยปริญญา 3 อย่าง
เหล่านี้แล้ว


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :64 }