เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
พวกเธอจงดูหมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่
เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อยสิ้นกระแสแล้ว
นรชนเห็นโทษนี้แล้ว ก็อย่าก่อตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย
พึงประพฤติไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
[13] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
นักปราชญ์ พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง 2 ด้าน
กำหนดรู้ผัสสะแล้ว ก็ไม่ติดใจ
ติเตียนกรรมใดด้วยตน ก็ไม่ทำกรรมนั้น
ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินแล้ว
คำว่า พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง 2 ด้าน อธิบายว่า
คำว่า ส่วนสุด ได้แก่ ผัสสะ เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดแห่งผัสสะเป็นส่วน
สุดอีกด้านหนึ่ง อดีตเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อนาคตเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง สุขเวทนา
เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง นามเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง
รูปเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง อายตนะภายใน 6 เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อายตนะภายนอก
6 เป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง ความถือตัวเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดแห่งความถือ
ตัวเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง
คำว่า ความพอใจ ได้แก่ ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ ความกำหนัด
ด้วยอำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจความใคร่ ความทะยานอยาก
ด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจ
ความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่ ความติดใจด้วยอำนาจความใคร่ ห้วงน้ำ
คือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบคือความใคร่ ความยึดถือด้วยอำนาจความใคร่
กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย
คำว่า พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง 2 ด้าน ได้แก่ พึงกำจัด คือ ขจัด
ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความพอใจในส่วนสุดทั้ง 2 ด้าน
รวมความว่า พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง 2 ด้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :62 }