เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
11. จิตของภิกษุผู้เป็นพระอนาคามี ก็พ้น หลุดพ้น หลุดพ้นด้วยดีจาก
กามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ อย่างละเอียด กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย
อย่างละเอียด และกิเลสที่ตั้งอยู่ในฝ่ายเดียวกับกามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น
12. จิตของภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ ก็พ้น หลุดพ้น หลุดพ้นด้วยดีจากรูปราคะ
อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย
เหล่ากิเลสที่ตั้งอยู่ในฝ่ายเดียวกับรูปราคะเป็นต้นนั้น และนิมิตทั้งปวง
ในภายนอก รวมความว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว

ว่าด้วยกาลแห่งสมถะและวิปัสสนา
คำว่า ตามกาล ในคำว่า ภิกษุนั้นเมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบ
ตามกาล อธิบายว่า เมื่อจิตฟุ้งซ่าน ก็เป็นกาลแห่งสมถะ เมื่อจิตตั้งมั่น ก็เป็นกาล
แห่งวิปัสสนา (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
โยคี1ใด ยกจิตไว้ในกาล(หนึ่ง)
ข่มจิตในอีกกาลหนึ่ง ทำจิตให้รื่นเริงตามกาล
ตั้งจิตให้มั่นในกาลเพ่งดูจิตตามกาล
โยคีนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในกาล
การยกจิต ควรมีในกาลไหน
การข่มจิตควรมีในกาลไหน

เชิงอรรถ :
1 โยคี หมายถึงผู้ประกอบความเพียรในกัมมัฏฐาน เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลมในการประคองจิต ข่มจิต ทำจิต
ให้ร่าเริง จิตตั้งมั่น และวางเฉย
ประคองจิตให้ตั้งอยู่ด้วย ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์
ข่มจิต เมื่อจิตฟุ้งซ่านก็ข่มด้วยปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์
ทำจิตให้ร่าเริง ด้วยการพิจารณาสังเวควัตถุ 8 ประการ (ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ทุกข์ในอบาย ทุกข์มี
วัฏฏเป็นมูลในอดีต ทุกข์มีวัฏเป็นมูลในอนาคต ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลในปัจจุบัน) หรือด้วย
การระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย
จิตตั้งมั่น ทำจิตให้เว้นจากความหดหู่และฟุ้งซ่าน ด้วยผูกใจไว้กับวิริยะและสมาธิหรืออุปจารสมาธิและ
อัปปนาสมาธิ
วางเฉย พระโยคีรู้ความหดหู่ ฟุ้งซ่านแห่งจิต จิตอภิรมย์ในอารมณ์กสิณเป็นต้น หรือจิตสัมปยุตด้วยฌาน
แล้ว ไม่พึงขวนขวายในการประคองจิต ข่มจิต ทำจิตให้ร่าเริง ควรกระทำการวางเฉยอย่างเดียว (ขุ.ม.อ.
210/479-480)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :617 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
กาลสำหรับทำจิตให้รื่นเริงควรมีในกาลไหน
และกาลแห่งสมถะเป็นเช่นไร
บัณฑิตย่อมแสดงกาลสำหรับเพ่งดูจิตของโยคีไว้อย่างไร
การยกจิตควรมีในเมื่อจิตย่อหย่อน
การข่มจิตควรมีในเมื่อจิตฟุ้งซ่าน
โยคีควรทำจิตที่ถึงความไม่แช่มชื่นให้รื่นเริงทุกเมื่อ
จิตรื่นเริง ไม่ย่อหย่อน ไม่ฟุ้งซ่านย่อมมีในกาลใด
ในกาลนั้นก็เป็นกาลแห่งสมถะ
ใจพึงยินดีอยู่ภายในโดยอุบายนี้เอง
เมื่อใดจิตตั้งมั่น เมื่อนั้นโยคีพึงรู้จิตที่ตั้งมั่น แล้วพึงเพ่งดูจิต
นักปราชญ์รู้จักกาล ทราบกาล ฉลาดในกาล
พึงกำหนดอารมณ์อันเป็นนิมิตของจิต โดยควรแก่กาล อย่างนี้
คำว่า ภิกษุนั้นเมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล อธิบายว่า
ภิกษุนั้นเมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง"
เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบว่า "สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ... ธรรม
ทั้งปวงเป็นอนัตตา สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมี
ความดับไปเป็นธรรมดา"
คำว่า ธรรมเอกผุดขึ้น ในคำว่า ภิกษุนั้น ... เป็นผู้มีธรรมเอกผุดขึ้น
พึงกำจัดความมืด อธิบายว่า ผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีใจ
ไม่ซัดส่าย คือ สมถะ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ รวมความว่า เป็นผู้มี
ธรรมเอกผุดขึ้น
คำว่า ภิกษุนั้น ... พึงกำจัดความมืด อธิบายว่า ภิกษุพึงขจัด พึงกำจัด คือ ละ
บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความมืดเพราะราคะ ความมืดเพราะ
โทสะ ความมืดเพราะโมหะ ความมืดเพราะมานะ ความมืดเพราะทิฏฐิ ความมืด
เพราะกิเลส ความมืดเพราะทุจริต อันทำให้เป็นคนตาบอด ทำให้ไม่มีจักษุ ทำให้ไม่
มีญาณ อันดับปัญญา เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความลำบาก ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :618 }