เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า ลำดับต่อไป ... คือธุลี 5 อย่างในโลก
คำว่า ราคะเหล่าใด ในคำว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อกำจัดราคะเหล่าใด
ได้แก่ ราคะในรูป ราคะในเสียง ราคะในกลิ่น ราคะในรส ราคะในโผฏฐัพพะ
คำว่า มีสติ ได้แก่ สติ คือ ความตามระลึกถึง ความระลึกได้เฉพาะหน้า สติ คือ
ความระลึกได้ ความจำได้ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ คือ สตินทรีย์
สติพละ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค1 นี้ตรัสเรียกว่า สติ
ภิกษุประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม
เพียบพร้อมแล้วด้วยสตินี้ ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ผู้มีสติ
คำว่า พึงศึกษา ได้แก่ สิกขา 3 คือ
1. อธิสีลสิกขา 2. อธิจิตตสิกขา
3. อธิปัญญาสิกขา
อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไร ... นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
คำว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อกำจัดราคะเหล่าใด อธิบายว่า บุคคลผู้มี
สติพึงศึกษาทั้งอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เพื่อกำจัด คือ
บรรเทา ละ สงบ สลัดทิ้ง ระงับราคะ คือ ราคะในรูป ราคะในเสียง ราคะในกลิ่น
ราคะในรส ราคะในโผฏฐัพพะ
สิกขา 3 นี้ เมื่อภิกษุนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่าพึงศึกษา ... เมื่อ
ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ก็ชื่อว่าพึงศึกษา คือ พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติ
เอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ รวมความว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อ
กำจัดราคะเหล่าใด

เชิงอรรถ :
1 เอกายนมรรค หมายถึงทางเอกที่ต้องละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ต้องอยู่คนเดียว จากสังสารวัฏ
ไปสู่นิพพาน เหล่าสัตว์ต้องไปด้วยความสงัดที่เรียกว่าวิเวกเท่านั้น อีกอย่างหนึ่ง อริยมรรคมีองค์ 8
อันประเสริฐ ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งปวง ทรงดำเนินไปและชี้บอกทางให้สัตว์ทั้งหลายดำเนิน
ไปตามทางนี้ (ขุ.ม.อ. 3/50)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :614 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า พึงปราบปรามราคะในรูป เสียง กลิ่น รสและผัสสะ อธิบายว่า
พึงปราบปราม คือ ยึดครอง ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง ย่ำยีราคะในรูป เสียง กลิ่น
รส โผฏฐัพพะ รวมความว่า พึงปราบปรามราคะในรูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ลำดับต่อไป ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ
ศึกษาเพื่อกำจัดราคะเหล่าใด
ราคะเหล่านั้น คือธุลี 5 อย่างในโลก
พึงปราบปรามราคะในรูป เสียง กลิ่น รสและผัสสะ
[210] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว
พึงกำจัดความพอใจในธรรมเหล่านี้
ภิกษุนั้นเมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล
เป็นผู้มีธรรมเอกผุดขึ้น พึงกำจัดความมืด
คำว่า เหล่านี้ ในคำว่า พึงกำจัดความพอใจในธรรมเหล่านี้ ได้แก่ ในรูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
คำว่า ความพอใจ ได้แก่ ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ ความกำหนัดด้วย
อำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจความใคร่ ความทะยานอยากด้วย
อำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจ
ความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่ ความติดใจด้วยอำนาจความใคร่ ห้วงน้ำ
คือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบคือความใคร่ กิเลสเครื่องยึดมั่นคือความใคร่
กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย
คำว่า พึงกำจัดความพอใจในธรรมเหล่านี้ ได้แก่ พึงกำจัด คือ ขจัด ละ
บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความพอใจในธรรมเหล่านี้ รวม
ความว่า พึงกำจัดความพอใจในธรรมเหล่านี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :615 }