เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น ในคำว่า ภิกษุนั้นคุ้มครองใน
ปัจจัยเหล่านั้น เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน อธิบายว่า ภิกษุนั้น คุ้มครอง
คือ ปกปัก รักษา สังวรในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
รวมความว่า ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุนั้นคุ้มครอง คือ ปกปัก รักษา สังวรในอายตนะทั้งหลาย
รวมความว่า ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น อย่างนี้บ้าง
คำว่า เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน อธิบายว่า เป็นผู้สำรวม คือ ระวัง
ระมัดระวัง คุ้มครอง ปกปัก รักษา สังวร เที่ยวไปในหมู่บ้าน รวมความว่า ภิกษุนั้น
คุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน
คำว่า แม้ถูกด่าก็ไม่พึงกล่าววาจาหยาบ อธิบายว่า ถูกประทุษร้าย ถูกด่า
คือ ถูกเสียดสี ถูกเหยียดหยาม ถูกติเตียน ถูกว่าร้าย ก็ไม่พึงว่ากล่าวตอบผู้ที่
ว่ากล่าว ไม่พึงด่าตอบผู้ที่ด่า ไม่พึงโกรธตอบผู้ที่โกรธ ไม่พึงบาดหมางตอบผู้ที่
บาดหมาง ด้วยถ้อยคำหยาบ ถ้อยคำกระด้าง ได้แก่ ไม่พึงก่อการทะเลาะ ไม่พึงก่อ
การบาดหมาง ไม่พึงก่อการแก่งแย่ง ไม่พึงก่อการวิวาท ไม่พึงก่อการมุ่งร้าย คือ
พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งการทะเลาะ การบาดหมาง
การแก่งแย่ง การวิวาท การมุ่งร้าย ได้แก่ พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก
สลัดออก ไม่เกี่ยวข้อง หลุดพ้นจากการทะเลาะ การบาดหมาง การแก่งแย่ง
การวิวาท การมุ่งร้าย มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า แม้ถูกด่าก็ไม่พึง
กล่าววาจาหยาบ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้
ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาลแล้ว
พึงรู้จักประมาณเพื่อสันโดษ
ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น
เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน
แม้ถูกด่าก็ไม่พึงกล่าววาจาหยาบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :603 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
[207] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน ตื่นอยู่โดยมาก
ปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่น พึงเข้าไปตัดความตรึกธรรม
ที่อาศัยความตรึกและความคะนอง
คำว่า ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ และไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
อธิบายว่า
ภิกษุเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีตาลอกแลก คือ เป็นผู้ประกอบด้วย
ความเป็นคนมีตาลอกแลกด้วยคิดว่า "รูปที่ยังไม่เคยดู เราควรดู รูปที่เราเคยดูแล้ว
ควรผ่านไปเลย" จึงเป็นผู้ขวนขวายการเที่ยวนาน และการเที่ยวไปไม่แน่นอน จาก
อารามหนึ่งไปสู่อีกอารามหนึ่ง จากอุทยานหนึ่งไปสู่อีกอุทยานหนึ่ง จากบ้านหนึ่งไป
สู่อีกบ้านหนึ่ง จากนิคมหนึ่งไปสู่อีกนิคมหนึ่ง จากนครหนึ่งไปสู่อีกนครหนึ่ง จากรัฐ
หนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง จากชนบท(ประเทศ)หนึ่งไปสู่อีกชนบทหนึ่ง เพื่อดูรูป ภิกษุชื่อ
ว่าเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนนไม่สำรวม เดินมองช้าง
มองม้า มองรถ มองพลเดินเท้า มองสตรี มองบุรุษ มองเด็กชาย มองเด็กหญิง
มองร้านตลาด มองหน้ามุขเรือน มองข้างบน มองข้างล่าง มองทิศน้อยทิศใหญ่
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปทางตาแล้ว เป็นผู้รวบถือ เป็นผู้แยกถือ(อวัยวะส่วน
ต่าง ๆ) ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาป
อกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมไม่รักษาจักขุนทรีย์ ย่อมไม่ถึง
ความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :604 }