เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
จึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้ตัว มีสติกำกับใน
ความสันโดษด้วยจีวรนั้น ภิกษุนี้ตรัสเรียกว่า ดำรงอยู่ในอริยวงศ์ ที่รู้กันว่าดีเลิศ
เป็นของเก่า
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และกล่าวสรรเสริญ
ความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ทั้งไม่ประกอบการแสวงหาผิดที่ไม่สมควร
เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่กระวนกระวาย และได้บิณฑบาตแล้วก็
ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน มองเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก บริโภคอยู่ อนึ่ง
เพราะความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น ท่านจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
เพราะภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้ตัว มีสติกำกับในความสันโดษด้วย
บิณฑบาตนั้น ภิกษุนี้ตรัสเรียกว่า ดำรงอยู่ในอริยวงศ์ที่รู้กันว่า ดีเลิศ เป็นของเก่า
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และกล่าวสรรเสริญ
ความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ทั้งไม่ประกอบการแสวงหาผิดที่ไม่สมควร
เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ ไม่ได้เสนาสนะก็ไม่กระวนกระวาย และได้เสนาสนะแล้วก็
ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน มองเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ใช้สอย อนึ่ง
เพราะความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้นั้น ท่านจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
เพราะภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้ตัว มีสติกำกับในความสันโดษ ด้วย
เสนาสนะนั้น ภิกษุนี้ตรัสเรียกว่า ดำรงอยู่ในอริยวงศ์ที่รู้กันว่าดีเลิศ เป็นของเก่า
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ และ
กล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ ทั้งไม่
ประกอบการแสวงหาผิดที่ไม่สมควร เพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ไม่ได้
คิลานปัจจัยเภสัชบริขารก็ไม่กระวนกระวาย และได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารแล้วก็ไม่
ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน มองเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก บริโภคอยู่ อนึ่ง
เพราะความสันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้นั้น ท่านจึงไม่ยกตน
ไม่ข่มผู้อื่น เพราะภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้ตัว มีสติกำกับในความสันโดษ
ด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้นั้น ภิกษุนี้ตรัสเรียกว่า ดำรงอยู่ในอริยวงศ์
ที่รู้กันว่าดีเลิศ เป็นของเก่า รวมความว่า ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้ ... พึงรู้จักประมาณ
เพื่อสันโดษ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :602 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น ในคำว่า ภิกษุนั้นคุ้มครองใน
ปัจจัยเหล่านั้น เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน อธิบายว่า ภิกษุนั้น คุ้มครอง
คือ ปกปัก รักษา สังวรในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
รวมความว่า ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุนั้นคุ้มครอง คือ ปกปัก รักษา สังวรในอายตนะทั้งหลาย
รวมความว่า ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น อย่างนี้บ้าง
คำว่า เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน อธิบายว่า เป็นผู้สำรวม คือ ระวัง
ระมัดระวัง คุ้มครอง ปกปัก รักษา สังวร เที่ยวไปในหมู่บ้าน รวมความว่า ภิกษุนั้น
คุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน
คำว่า แม้ถูกด่าก็ไม่พึงกล่าววาจาหยาบ อธิบายว่า ถูกประทุษร้าย ถูกด่า
คือ ถูกเสียดสี ถูกเหยียดหยาม ถูกติเตียน ถูกว่าร้าย ก็ไม่พึงว่ากล่าวตอบผู้ที่
ว่ากล่าว ไม่พึงด่าตอบผู้ที่ด่า ไม่พึงโกรธตอบผู้ที่โกรธ ไม่พึงบาดหมางตอบผู้ที่
บาดหมาง ด้วยถ้อยคำหยาบ ถ้อยคำกระด้าง ได้แก่ ไม่พึงก่อการทะเลาะ ไม่พึงก่อ
การบาดหมาง ไม่พึงก่อการแก่งแย่ง ไม่พึงก่อการวิวาท ไม่พึงก่อการมุ่งร้าย คือ
พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งการทะเลาะ การบาดหมาง
การแก่งแย่ง การวิวาท การมุ่งร้าย ได้แก่ พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก
สลัดออก ไม่เกี่ยวข้อง หลุดพ้นจากการทะเลาะ การบาดหมาง การแก่งแย่ง
การวิวาท การมุ่งร้าย มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า แม้ถูกด่าก็ไม่พึง
กล่าววาจาหยาบ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้
ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาลแล้ว
พึงรู้จักประมาณเพื่อสันโดษ
ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น
เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน
แม้ถูกด่าก็ไม่พึงกล่าววาจาหยาบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :603 }