เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
(สมจริงดังภาษิตว่า)
เหล่าภิกษุไปแคว้นมคธ ไปแคว้นโกศล
แต่บางพวกเที่ยวไปไม่พร้อมกับหมู่ จากแคว้นวัชชี
เหมือนเหล่ามฤค เป็นผู้ไม่มีกังวล อยู่1
การประพฤติตนเป็นคนมักน้อย เป็นความดี
การประพฤติสุจริต เป็นความดี
การปฏิบัติเพื่อละกามคุณ 5 ทุกเมื่อ เป็นความดี
การถามสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นความดี
การปฏิบัติตามโอวาทโดยเคารพ เป็นความดี
กิจมีการฟังเป็นต้น เป็นเครื่องหมายความเป็นสมณะ
ของผู้หมดความกังวล2
รวมความว่า ภิกษุผู้เป็นเสขะพึงกำจัด ... เป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เราจักฉันอะไรเล่า หรือจักฉันที่ไหน
คืนนี้ เรานอนลำบากแล้วหนอ เราจักนอนที่ไหนเล่า
ภิกษุผู้เป็นเสขะ พึงกำจัดวิตกอันเป็นที่ตั้ง
แห่งความคร่ำครวญเหล่านี้ เป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป
[206] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้
ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาลแล้ว
พึงรู้จักประมาณเพื่อสันโดษ
ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น
เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน
แม้ถูกด่าก็ไม่พึงกล่าววาจาหยาบ

เชิงอรรถ :
1 สํ.ส. 15/224/240
2 ขุ.เถร.(แปล) 26/36/316

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :599 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มโดยชอบธรรม
คำว่า อาหาร ในคำว่า ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาลแล้ว ได้แก่ ข้าวสุก
ขนมกุมมาส ข้าวผง ปลา เนื้อ
คำว่า เครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ จีวร 6 ชนิด คือ
1. โขมะ 2. กัปปาสิกะ
3. โกเสยยะ 4. กัมพล
5. สาณะ 6. ภังคะ
คำว่า ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาลแล้ว อธิบายว่า ได้แล้ว คือ ได้รับแล้ว
สมหวังแล้ว ประสบแล้ว ได้เฉพาะแล้วซึ่งจีวร บิณฑบาต มิใช่ด้วยการโกหก มิใช่
ด้วยการพูดเลียบเคียง มิใช่ด้วยการทำนิมิต มิใช่ด้วยการกำจัดคุณเขา มิใช่ด้วยการ
ต่อลาภด้วยลาภ มิใช่ด้วยการให้ไม้ มิใช่ด้วยการให้ไม้ไผ่ มิใช่ด้วยการให้ใบไม้ มิใช่
ด้วยการให้ดอกไม้ มิใช่ด้วยการให้ผลไม้ มิใช่ด้วยการให้น้ำอาบ มิใช่ด้วยการให้แป้งจุรณ์
มิใช่ด้วยการให้ดินสอพอง มิใช่ด้วยการให้ไม้สีฟัน มิใช่ด้วยการให้น้ำบ้วนปาก มิใช่
ด้วยคำพูดมุ่งให้เขารักตน มิใช่ด้วยคำพูดเหลาะแหละเหมือนแกงถั่ว มิใช่ด้วยกิริยา
ประจบ มิใช่ด้วยการขัดตั่งตีสนิทเขา มิใช่ด้วยวิชาดูพื้นที่ มิใช่ด้วยเดรัจฉานวิชา มิใช่
ด้วยวิชาทำนายลักษณะอวัยวะ มิใช่ด้วยวิชาดูฤกษ์ยาม มิใช่ด้วยการเดินทำหน้าที่ทูต
มิใช่ด้วยการเดินเป็นคนรับใช้ มิใช่ด้วยการเดินสื่อสาร มิใช่ด้วยเวชกรรม มิใช่ด้วย
นวกรรม มิใช่ด้วยการใช้ก้อนข้าวตอบแทนก้อนข้าว มิใช่ด้วยการให้และการเพิ่มให้
แต่ได้แล้ว คือ ได้รับแล้ว สมหวังแล้ว ประสบแล้ว ได้เฉพาะแล้ว โดยชอบธรรม
โดยยุติธรรม รวมความว่า ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาลแล้ว

ว่าด้วยความรู้จักประมาณ 2 อย่าง
คำว่า ภิกษุนั้น ... พึงรู้จักประมาณ ในคำว่า ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้ ...
พึงรู้จักประมาณเพื่อสันโดษ อธิบายว่า พึงรู้จักประมาณโดยเหตุ 2 อย่าง คือ
(1) โดยการรับ (2) โดยการบริโภค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :600 }