เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความวิตกเป็นเหตุรำพัน
คำว่า เราจักฉันอะไรเล่า ในคำว่า เราจักฉันอะไรเล่า หรือจักฉันที่ไหน
อธิบายว่า เราจักฉันอะไร คือ ข้าว ขนมกุมมาส ข้าวผง ปลา หรือเนื้อ รวมความว่า
เราจักฉันอะไรเล่า
คำว่า หรือจักฉันที่ไหน อธิบายว่า เราจักฉันที่ไหน คือ ที่ตระกูลกษัตริย์
ตระกูลพราหมณ์ ตระกูลแพศย์ หรือตระกูลศูทร รวมความว่า เราจักฉันอะไรเล่า
หรือจักฉันที่ไหน
คำว่า คืนนี้ เรานอนลำบากแล้วหนอ เราจักนอนที่ไหนเล่า อธิบายว่า คืนนี้
เรานอนลำบากบนแผ่นกระดาน เสื่อ แผ่นหนัง เครื่องปูลาดทำด้วยหญ้า เครื่องปู
ลาดทำด้วยใบไม้ หรือเครื่องปูลาดทำด้วยฟาง คืนต่อมา เราจักนอนให้สบาย ที่ไหน
คือ บนเตียง ตั่ง ฟูก หมอน ในวิหาร เรือนหลังคาด้านเดียว ปราสาท เรือนโล้น
หรือถ้ำ รวมความว่า คืนนี้ เรานอนลำบากแล้วหนอ เราจักนอนที่ไหนเล่า
คำว่า วิตกเหล่านี้ ในคำว่า วิตกอันเป็นที่ตั้งแห่งความคร่ำครวญเหล่านี้
ได้แก่ วิตกเกี่ยวกับบิณฑบาต1 2 อย่าง วิตกเกี่ยวกับเสนาสนะ2 2 อย่าง
คำว่า อันเป็นที่ตั้งแห่งความคร่ำครวญ ได้แก่ เป็นที่ตั้งแห่งการปรับทุกข์ เป็น
ที่ตั้งแห่งความคร่ำครวญ รวมความว่า วิตกอันเป็นที่ตั้งแห่งความคร่ำครวญเหล่านี้

เชิงอรรถ :
1 บิณฑบาต 2 อย่าง เกี่ยวกับฉันบิณฑบาตแล้ว กุศลเกิดขึ้นหรืออกุศลเกิดขึ้น ภิกษุควรพิจารณาว่า
จะเลือกอย่างใดใน 2 อย่าง
(1) เมื่อภิกษุฉันบิณฑบาตเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญ กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อม บิณฑบาตเช่นนั้น
ภิกษุไม่ควรฉัน
(2) เมื่อภิกษุฉันบิณฑบาตเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อม กุศลธรรมทั้งหลายเจริญ บิณฑบาตเช่นนั้น
ภิกษุควรฉัน (ม.อุ. 14/122/109)
2 เสนาสนะ 2 อย่าง เกี่ยวกับการใช้สอยเสนาสนะแล้ว กุศลเกิดขึ้นหรืออกุศลเกิดขึ้น ภิกษุควรพิจารณา
ว่าจะเลือกอย่างใดใน 2 อย่าง
(1) เมื่อภิกษุใช้สอยเสนาสนะเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญ กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อม เสนาสนะ
เช่นนั้นภิกษุไม่ควรใช้สอย
(2) เมื่อภิกษุใช้สอยเสนาสนะเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อม กุศลธรรมทั้งหลายเจริญ เสนาสนะ
เช่นนั้นภิกษุควรใช้สอย (ม.อุ. 14/122/109)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :597 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ภิกษุผู้เป็นเสขะ ในคำว่า ภิกษุผู้เป็นเสขะ พึงกำจัด ... เป็นผู้ไม่มี
กังวลท่องเที่ยวไป อธิบายว่า เพราะเหตุไร จึงตรัสเรียกว่าเสขะ เพราะกำลังศึกษา
จึงชื่อว่าเสขะ กำลังศึกษาอะไร กำลังศึกษาอธิสีลสิกขาบ้าง อธิจิตตสิกขาบ้าง
อธิปัญญาสิกขาบ้าง อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไร ... นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
สิกขา 3 เหล่านี้ เมื่อพระเสขะนึกถึง ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่ากำลัง
ศึกษา เมื่อเห็น ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อพิจารณา ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต
ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อน้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อประคองความเพียร
ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อตั้งสติ ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อตั้งใจมั่น ชื่อว่ากำลังศึกษา
เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่ากำลังศึกษา
เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่า
กำลังศึกษา เมื่อเจริญธรรมที่ควรเจริญ ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควร
ทำให้แจ้ง ชื่อว่ากำลังศึกษา คือ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ
สมาทานศึกษา เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า เสขะ
พระเสขะพึงศึกษาอธิสีลสิกขาบ้าง อธิจิตตสิกขาบ้าง อธิปัญญาสิกขาบ้าง เพื่อ
กำจัด บรรเทา ละ สงบ สลัดทิ้ง ระงับ
สิกขา 3 เหล่านี้ เมื่อพระเสขะนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบ ... เมื่อทำให้
แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าพึงศึกษา คือ พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อ
โดยชอบ สมาทานประพฤติ รวมความว่า ภิกษุผู้เป็นเสขะ พึงกำจัด
คำว่า เป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป อธิบายว่า
ภิกษุเป็นผู้มีความกังวลท่องเที่ยวไป เป็นอย่างไร
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความกังวลเรื่องตระกูล ... ความ
กังวลเรื่องหมู่คณะ ... ความกังวลเรื่องอาวาส ... ความกังวลเรื่องจีวร ... ความกังวล
เรื่องบิณฑบาต ... ความกังวลเรื่องเสนาสนะ เป็นผู้ประกอบด้วยความกังวลเรื่อง
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีความกังวลท่องเที่ยวไป เป็นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยความกังวลเรื่องตระกูล ไม่ประกอบ
ด้วยความกังวลเรื่องหมู่คณะ อาวาส จีวร บิณฑบาตและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป เป็นอย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :598 }