เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
[202] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุไม่พึงขโมย ไม่พึงพูดเท็จ
พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งผู้สะดุ้งและผู้มั่นคง
เมื่อใด ภิกษุรู้แจ้งความขุ่นมัวแห่งใจ
เมื่อนั้น เธอพึงบรรเทาเสียด้วยมนสิการว่า
นี้เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ
คำว่า ไม่พึงขโมย ในคำว่า ไม่พึงขโมย ไม่พึงพูดเท็จ อธิบายว่า ภิกษุ
ในธรรมวินัยนี้ พึงเป็นผู้ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน รับเอาแต่ของที่
เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ดำรงตนอยู่อย่างสะอาด ไม่ขโมย รวมความว่า ไม่พึง
ขโมย
คำว่า ไม่พึงพูดเท็จ อธิบายว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงเป็นผู้ละการกล่าวเท็จ
เว้นขาดจากการกล่าวเท็จได้แล้ว คือ เป็นคนพูดจริง ตั้งมั่นในความสัตย์ มีถ้อยคำ
มั่นคง เชื่อถือได้ ไม่กล่าวคำหลอกลวงชาวโลก รวมความว่า ไม่พึงขโมย ไม่พึงพูดเท็จ

ว่าด้วยการแผ่เมตตา
คำว่า พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งผู้สะดุ้งและผู้มั่นคง อธิบายว่า
คำว่า เมตตา ได้แก่ ความรัก กิริยาที่รัก ภาวะที่รัก ความเอ็นดู กิริยาที่เอ็นดู
ภาวะที่เอ็นดู ความปรารถนาเกื้อกูลกัน ความอนุเคราะห์ ความไม่พยาบาท ความ
ไม่ปองร้าย กุศลมูลคืออโทสะในหมู่สัตว์
คำว่า ผู้สะดุ้ง อธิบายว่า เหล่าสัตว์ยังละตัณหาอันทำให้สะดุ้งไม่ได้ ยังละภัย
และความหวาดกลัวไม่ได้ เพราะเหตุไร สัตว์เหล่านั้น จึงตรัสเรียกว่า ผู้สะดุ้ง
สัตว์เหล่านั้น ยังสะดุ้ง คือ ครั่นคร้าม เกรงกลัว หวาดกลัว ถึงความสะดุ้ง
เพราะเหตุนั้น สัตว์เหล่านั้น จึงตรัสเรียกว่า ผู้สะดุ้ง
คำว่า ผู้มั่นคง อธิบายว่า เหล่าสัตว์ที่ละตัณหาอันทำให้สะดุ้งได้แล้ว ละภัย
และความหวาดกลัวได้แล้ว เพราะเหตุไร สัตว์เหล่านั้นจึงตรัสเรียกว่า ผู้มั่นคง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :590 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
สัตว์เหล่านั้น ไม่สะดุ้ง คือ ไม่ครั่นคร้าม ไม่เกรงกลัว ไม่หวาดกลัว ไม่ถึงความ
สะดุ้ง เพราะเหตุนั้น สัตว์เหล่านั้น จึงตรัสเรียกว่า ผู้มั่นคง
คำว่า พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งผู้สะดุ้งและผู้มั่นคง อธิบายว่า พึงแผ่ คือ
ขยายเมตตา ได้แก่ พึงเป็นผู้มีจิตประกอบด้วยเมตตา อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มี
ขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปยังสัตว์ทั้งผู้สะดุ้งและผู้มั่นคงอยู่
รวมความว่า พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งผู้สะดุ้งและผู้มั่นคง
คำว่า เมื่อใด ในคำว่า เมื่อใด ภิกษุรู้แจ้งความขุ่นมัวแห่งใจ ได้แก่ ในกาลใด
คำว่า แห่งใจ อธิบายว่า จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์
วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ อันเกิดจากผัสสะเป็นต้นนั้น จิตขุ่นมัว
เศร้าหมอง ยุ่งยาก วุ่นวาย หวั่นไหว หมุนวน ไม่สงบด้วยกายทุจริต จิตขุ่นมัว
เศร้าหมอง ยุ่งยาก วุ่นวาย หวั่นไหว หมุนวน ไม่สงบด้วยวจีทุจริต ... มโนทุจริต ...
ราคะ... โทสะ... โมหะ... โกธะ... อุปนาหะ... มักขะ... ปฬาสะ... อิสสา... มัจฉริยะ...
มายา... สาเถยยะ... ถัมภะ... สารัมภะ... มานะ... อติมานะ... มทะ... ปมาทะ...
กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อน
ทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท
คำว่า เมื่อใด ภิกษุรู้แจ้งความขุ่นมัวแห่งใจ อธิบายว่า รู้ คือ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง
รู้เฉพาะ แทงตลอดความที่จิตขุ่นมัว รวมความว่า เมื่อใด ภิกษุรู้แจ้งความขุ่นมัว
แห่งใจ
คำว่า เมื่อนั้น เธอพึงบรรเทาเสียด้วยมนสิการว่า นี้ เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้
มีกรรมดำ อธิบายว่า
คำว่า ผู้มีกรรมดำ ได้แก่ มารผู้มีกรรมดำ คือ ผู้ยิ่งใหญ่ พาไปสู่ความตาย ไม่
ให้สัตว์หลุดพ้น เป็นเผ่าพันธุ์ของผู้ประมาท ภิกษุพึงละ บรรเทา คือ ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีก ด้วยมนสิการว่า นี้เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ คือ เป็นฝัก
ฝ่ายแห่งมาร เป็นบ่วงแห่งมาร เป็นเบ็ดแห่งมาร เป็นเหยื่อแห่งมาร เป็นวิสัยแห่งมาร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :591 }