เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
[202] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุไม่พึงขโมย ไม่พึงพูดเท็จ
พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งผู้สะดุ้งและผู้มั่นคง
เมื่อใด ภิกษุรู้แจ้งความขุ่นมัวแห่งใจ
เมื่อนั้น เธอพึงบรรเทาเสียด้วยมนสิการว่า
นี้เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ
คำว่า ไม่พึงขโมย ในคำว่า ไม่พึงขโมย ไม่พึงพูดเท็จ อธิบายว่า ภิกษุ
ในธรรมวินัยนี้ พึงเป็นผู้ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน รับเอาแต่ของที่
เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ดำรงตนอยู่อย่างสะอาด ไม่ขโมย รวมความว่า ไม่พึง
ขโมย
คำว่า ไม่พึงพูดเท็จ อธิบายว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงเป็นผู้ละการกล่าวเท็จ
เว้นขาดจากการกล่าวเท็จได้แล้ว คือ เป็นคนพูดจริง ตั้งมั่นในความสัตย์ มีถ้อยคำ
มั่นคง เชื่อถือได้ ไม่กล่าวคำหลอกลวงชาวโลก รวมความว่า ไม่พึงขโมย ไม่พึงพูดเท็จ

ว่าด้วยการแผ่เมตตา
คำว่า พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งผู้สะดุ้งและผู้มั่นคง อธิบายว่า
คำว่า เมตตา ได้แก่ ความรัก กิริยาที่รัก ภาวะที่รัก ความเอ็นดู กิริยาที่เอ็นดู
ภาวะที่เอ็นดู ความปรารถนาเกื้อกูลกัน ความอนุเคราะห์ ความไม่พยาบาท ความ
ไม่ปองร้าย กุศลมูลคืออโทสะในหมู่สัตว์
คำว่า ผู้สะดุ้ง อธิบายว่า เหล่าสัตว์ยังละตัณหาอันทำให้สะดุ้งไม่ได้ ยังละภัย
และความหวาดกลัวไม่ได้ เพราะเหตุไร สัตว์เหล่านั้น จึงตรัสเรียกว่า ผู้สะดุ้ง
สัตว์เหล่านั้น ยังสะดุ้ง คือ ครั่นคร้าม เกรงกลัว หวาดกลัว ถึงความสะดุ้ง
เพราะเหตุนั้น สัตว์เหล่านั้น จึงตรัสเรียกว่า ผู้สะดุ้ง
คำว่า ผู้มั่นคง อธิบายว่า เหล่าสัตว์ที่ละตัณหาอันทำให้สะดุ้งได้แล้ว ละภัย
และความหวาดกลัวได้แล้ว เพราะเหตุไร สัตว์เหล่านั้นจึงตรัสเรียกว่า ผู้มั่นคง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :590 }