เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
[201] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุถูกผัสสะแห่งความเจ็บป่วยและความหิวกระทบแล้ว
พึงอดกลั้นความหนาว หรือความร้อน
ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้ว โดยอาการมากอย่าง
ก็ไม่ให้โอกาส พึงทำความเพียรและความบากบั่นให้มั่นคง
คำว่า ภิกษุถูกผัสสะแห่งความเจ็บป่วยและความหิวกระทบแล้ว อธิบายว่า
ผัสสะแห่งโรค ตรัสเรียกว่า ผัสสะแห่งความเจ็บป่วย ภิกษุถูกผัสสะแห่งโรคกระทบแล้ว
คือ ครอบงำ กลุ้มรุม ประกอบแล้ว ได้แก่ ถูกโรคทางตา ... โรคทางหู ... โรคทางจมูก
... โรคทางลิ้น ... โรคทางกาย ... ถูกสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อย
คลานกระทบแล้ว คือ ครอบงำ กลุ้มรุม ประกอบแล้ว ความอยากกิน ตรัสเรียกว่า
ความหิว ภิกษุนั้นเป็นผู้ถูกความหิวกระทบแล้ว คือ ครอบงำ กลุ้มรุม ประกอบแล้ว
รวมความว่า ภิกษุถูกผัสสะแห่งความเจ็บป่วยและความหิวกระทบแล้ว

ว่าด้วยความหนาวมีด้วยเหตุ 2 อย่าง
คำว่า ความหนาว ในคำว่า พึงอดกลั้นความหนาว หรือความร้อน อธิบายว่า
ความหนาวย่อมมีด้วยเหตุ 2 อย่าง คือ (1) ความหนาวด้วยอำนาจธาตุกำเริบภายใน
(2) ความหนาวด้วยอำนาจฤดูภายนอก
คำว่า ความร้อน อธิบายว่า ความร้อนย่อมมีด้วยเหตุ 2 อย่าง คือ (1) ความ
ร้อนด้วยอำนาจธาตุกำเริบภายใน (2) ความร้อนด้วยอำนาจฤดูภายนอก รวมความ
ว่า ความหนาว ความร้อน
คำว่า พึงอดกลั้น อธิบายว่า ภิกษุพึงเป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน
ความหิว ความกระหาย สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน พึง
เป็นผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำชั่วร้าย มุ่งร้าย ทุกขเวทนาทางกาย ที่เกิดขึ้น กล้า แข็ง เผ็ด
ร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พรากชีวิตไปได้ รวมความว่า พึงอดกลั้นความหนาว
หรือความร้อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :588 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้น ในคำว่า ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้น
กระทบแล้ว โดยอาการมากอย่าง ก็ไม่ให้โอกาส อธิบายว่า ถูกผัสสะแห่งความ
เจ็บป่วย ความหิว ความหนาว และความร้อนกระทบแล้ว คือ ครอบงำ กลุ้มรุม
ประกอบแล้ว รวมความว่า ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้ว
คำว่า โดยอาการมากอย่าง ได้แก่ ถูกกระทบแล้ว คือ ครอบงำ กลุ้มรุม
ประกอบแล้ว โดยอเนกประการ รวมความว่า ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้ว
โดยอาการมากอย่าง
คำว่า ก็ไม่ให้โอกาส ได้แก่ ไม่เปิดโอกาสให้วิญญาณที่เกิดพร้อมกับอภิสังขาร
จึงชื่อว่า ไม่ให้โอกาส อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ไม่เปิดโอกาสให้กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต จึงชื่อว่าไม่ให้โอกาส
อย่างนี้บ้าง รวมความว่า ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้ว โดยอาการมากอย่าง
ก็ไม่ให้โอกาส
คำว่า พึงทำความเพียรและความบากบั่นให้มั่นคง อธิบายว่า การปรารภ
ความเพียร การก้าวออก การก้าวไปข้างหน้า การย่างขึ้นไป ความพยายาม
ความอุตสาหะ ความขยัน ความไม่ถอยกลับ ความมั่นคง ความทรงไว้ ความบาก
บั่นไม่ย่อหย่อน ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ ความประคองธุระไว้
วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ สัมมาวายามะ ตรัสเรียกว่า ความเพียรและความบากบั่น
คำว่า พึงทำความเพียรและความบากบั่นให้มั่นคง อธิบายว่า พึงทำ
ความเพียร และความบากบั่นให้มั่นคง คือ พึงทำให้หนักแน่น ได้แก่ พึงเป็นผู้มี
การถือปฏิบัติมั่นคง มีการถือปฏิบัติแน่วแน่ รวมความว่า พึงทำความเพียรและ
ความบากบั่นให้มั่นคง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุถูกผัสสะแห่งความเจ็บป่วยและความหิวกระทบแล้ว
พึงอดกลั้นความหนาว หรือความร้อน
ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้ว โดยอาการมากอย่าง
ก็ไม่ให้โอกาส พึงทำความเพียรและความบากบั่นให้มั่นคง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :589 }