เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ตามที่รู้ ได้แก่ ตามที่รู้ คือ ตามที่ทราบ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ
แทงตลอด ได้แก่ เราจักบอกธรรมที่รู้ด้วยตนเอง ธรรมที่ประจักษ์แก่ตนเอง
มิใช่โดยอาการเชื่อผู้อื่นว่า ธรรมนี้เป็นดังนี้ ธรรมนี้เป็นดังนี้ มิใช่โดยการเล่าลือ
มิใช่โดยการถือสืบ ๆ กันมา มิใช่โดยการอ้างตำรา มิใช่โดยตรรกะ มิใช่โดยการ
อนุมาน มิใช่โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล มิใช่เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจ
ไว้แล้ว จักบอกธรรมที่รู้เฉพาะตนเอง ธรรมที่ประจักษ์แก่ตนเอง รวมความว่า เราจัก
บอก... นั้น แก่เธอ ตามที่รู้ ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สารีบุตร)
เราจักบอกความผาสุก และธรรมอันสมควรนั้น
ของผู้เบื่อหน่าย ใช้สอยที่นั่งที่นอนอันสงัด
ผู้ปรารถนาสัมโพธิญาณ แก่เธอ ตามที่รู้
[199] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ภิกษุผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ
ประพฤติธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบ
ไม่พึงกลัวภัย 5 อย่าง คือ
เหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์เลื้อยคลาน
สัมผัสจากมนุษย์และสัตว์ 4 เท้า

ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นนักปราชญ์
คำว่า ผู้เป็นนักปราชญ์ ในคำว่า ผู้เป็นนักปราชญ์... ไม่พึงกลัวภัย 5 อย่าง
ได้แก่ เป็นนักปราชญ์ คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ
มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส เฉลียวฉลาด ไม่พึงกลัว คือ ไม่พึง
หวาดเสียว ไม่พึงครั่นคร้าม ไม่พึงเกรงกลัว ไม่พึงหวาดกลัว ไม่พึงถึงความสะดุ้ง
ต่อภัย 5 อย่าง ได้แก่ ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี พึงเป็นผู้ละภัยและ
ความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้า อยู่ รวมความว่า ผู้เป็นนักปราชญ์...
ไม่พึงกลัวภัย 5 อย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :583 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 16. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ภิกษุ ในคำว่า ภิกษุ... มีสติ ประพฤติธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบ ได้แก่
ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือภิกษุผู้เป็นพระเสขะ
คำว่า มีสติ ได้แก่ มีสติด้วยเหตุ 4 อย่าง คือ
1. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย
2. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
3. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต
4. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย
ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ผู้มีสติ รวมความว่า มีสติ
คำว่า ประพฤติธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบ ได้แก่ ธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบ 4
ประการ คือ
1. ธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคือสีลสังวร
2. ธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคืออินทรียสังวร
3. ธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญญุตา
4. ธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคือชาคริยานุโยค
ธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคือสีลสังวร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์
สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย พิจารณาเห็นความเน่าเสียภายใน ประพฤติธรรมอันเป็นส่วน
สุดรอบ คือสีลสังวรภายใน ไม่ทำลายกฎเกณฑ์ นี้ชื่อว่าธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคือ
สีลสังวร
ธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคืออินทรียสังวร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติ
เพื่อความสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อสำรวมอยู่ด้วยดีแล้ว จะเป็นเหตุให้บาปอกุศล-
ธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำไม่ได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมใน
จักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู... ดมกลิ่นทางจมูก... ลิ้มรสทางลิ้น... ถูกต้องโผฏฐัพพะ
ทางกาย... รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ก็ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความ
สำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อสำรวมอยู่ด้วยดีแล้ว จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :584 }